องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านเชื้อราแคนดิดาจากน้ำมันหอมระเหยของใบมะยมฝรั่ง

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหยของใบมะยมฝรั่ง (Eugenia uniflora L.) ที่สกัดด้วยวิธีกลั่นด้วยน้ำ (hydro-distillation) และทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโตกราฟีร่วมกับแมสสเปกโตรเมทรี (Gas Chromatography-Mass spectrometry; GC-MS) พบว่าในน้ำมันหอมระเหยของใบมะยมฝรั่งมีสาร selina-1,3,7(11)-trien-8-one (36.37%) และ selina-1,3,7(11)-trien-8-one epoxide (27.32%) เป็นองค์ประกอบหลัก สารอื่นๆ ที่พบคือ germacrene B (7.95%), bicyclogermacrene (4.76%), β-elemene (3.18%), caryophyllene (3.16%), D-germacrene (2.12%), germacrone (1.51%), และ α-bulnesene (1.34%) การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อราแคนดิดาจำนวน 3 สายพันธุ์ คือ Candida albicans (CA), C. krusei (CK), และ C. tropicalis (CT) ด้วยวิธี broth microdilution assay พบว่าความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยของใบมะยมฝรั่งที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแคนดิดาได้คือ ≥8,192 มคก./มล. โดยน้ำมันหอมระเหย, ยาต้านเชื้อรา fluconazole, และส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย + fluconazole มีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) อยู่ในช่วง 1,892.47 – 1,2491.80 มคก./มล., 10.07 – 80.78 มคก./มล., และ 18.53 – 295.60 มคก./มล. ตามลำดับ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำมันหอมระเหยของใบมะยมฝรั่งร่วมกับ fluconazole ไม่ได้เสริมฤทธิ์กันในการต้านเชื้อรา นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยดังกล่าวยังสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (morphological transition) ของเชื้อ CA และ CT ด้วย แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในสัตว์ทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้น้ำมันหอมระเหยจากใบมะยมฝรั่งต่อไป

Food Chem. 2018;261:233–9.