ผลของการดื่มกาแฟต่อการฟื้นฟูระบบลำไส้ภายหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบสูตินรีเวช

ศึกษาผลของการดื่มกาแฟต่อการฟื้นฟูระบบลำไส้ภายหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบสูตินรีเวชจำนวน 114 คน ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดเป็นผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้อง (abdominal hysterectomy) และตัดรังไข่ออกไปด้วยทั้งสองข้างร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ในการศึกษาทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ดื่มกาแฟวันละ 3 ครั้ง (ครั้งละ 1 ถ้วย หรือ 100 มล. ซึ่งประกอบด้วยคาเฟอีนไม่เกิน 100 กรัม) ในเวลา 10.00, 15.00 และ 19.00 น. โดยเริ่มให้ดื่มครั้งแรกในช่วงเช้าหลังวันผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 ให้เป็นกลุ่มควบคุม โดยดูแลไม่ให้ได้รับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ประเมินผลด้วยการบันทึกช่วงเวลาในการผายลมและขับถ่ายครั้งแรกหลังการผ่าตัด การเคลื่อนไหวของลำไส้ และระยะเวลาที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารปกติได้ ผลจากการศึกษาพบว่า การให้ผู้ป่วยดื่มกาแฟหลังการผ่าตัดมีผลลดช่วงระยะเวลาในการผายลมและขับถ่ายครั้งแรกหลังการผ่าตัดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (30.2±8.0 ต่อ 40.2±12.1 ชั่วโมง และ 43.1±9.4 ต่อ 58.5±17.0 ชั่วโมง ตามลำดับ) และผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารปกติได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (3.4±1.2 ต่อ 4.7±1.6 วัน) นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมมีอาการท้องอืดมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ดื่มกาแฟคิดเป็นร้อยละ 30.4 ต่อ 10.3 ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟมีผลช่วยฟื้นฟูระบบลำไส้ของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดในระบบสูตินรีเวชได้

Am J Obstet Gynecol. 2017; 216(2): 145.e1-145.e7.