ผลของสาร piperine ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลนศาสตร์ของยา diclofenac ในอาสาสมัครสุขภาพดี

การศึกษาผลของสาร piperine ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในพริกไทยต่อการเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลนศาสตร์ของยา diclofenac ในอาสาสมัครสุขภาพดี เพศชาย จำนวน 12 คน อายุระหว่าง 25-32 ปี โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะควบคุม (control phase) และระยะทดสอบ (treatment phases) ซึ่งทั้ง 2 ระยะ จะทิ้งช่วงห่างกัน 1 สัปดาห์ สำหรับในระยะควบคุม จะให้อาสาสมัครรับประทานยา diclofenac ขนาด 100 มก. ร่วมกับน้ำ 240 มล. เพียงครั้งเดียวในตอนเช้า หลังจากที่อดอาหารมา 10 ชั่วโมง ส่วนในระยะทดสอบอาสาสมัครจะได้รับสาร piperine ขนาด 20 มก. วันละครั้ง หลังจากอดอาหารเช่นกัน เป็นเวลา 10 วัน จากนั้นในตอนเช้าของวันที่ 11 จะได้รับยา diclofenac แบบเดียวกับในระยะควบคุม และทำการเจาะเลือดของอาสาสมัคร พบว่าสาร piperine มีผลทำให้ค่า Cmax, AUC, T1/2 ของยาเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้น และค่า Kel และ CL/F ของยาลดลง ทำให้ลดอัตราการกำจัดยาออกจากร่างกาย เมื่อเทียบกับระยะควบคุม แสดงว่า piperine มีผลเปลี่ยนแปลงเภสัชจลศาสตร์ของยา diclofenac โดยอาจผ่านการยับยั้งเอนไซม์ CYP2C9 และสาร piperine จะเพิ่มค่าชีวประสิทธิผล (bioavailability) ของยา ดังนั้นการใช้ยา diclofenac ร่วมกับ piperine อาจเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาอาการอักเสบโดยช่วยลดขนาดของยาซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยาในขนาดสูงได้

Xenobiotica 2017;47(2):127-32.