ฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อน

การศึกษากลไกการออกฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อน (Cocos nucifera L.) ซึ่งมีสารสำคัญ เช่น ไฟโตเอสโตเจน (phytoestrogen), เบต้า-ซิโตสเตอรอล (β-sitosterol) ในหนูแรทที่ถูกตัดรังไข่ออก (ovariectomized rat) โดยในการทดลองได้แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูที่ผ่าเปิดหน้าท้องแต่ไม่ได้ตัดแยกรังไข่ออก (sham-operated), กลุ่มที่ 2 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ออก (ovariectomized; ovx), กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ออกและได้รับ estradiol benzoate (EB) ขนาด 2.5 มก./กก./วัน โดยฉีดเข้าทางช่องท้อง, กลุ่มที่ 4 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ออกและได้กินน้ำมะพร้าวอ่อนขนาด 100 มล./กก./วัน โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 จะได้รับน้ำปราศจากไอออน (deionized water) หลังจากทำการผ่าตัดเอารังไข่ออกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จึงทำให้หนูเกิดแผลขนาด 1 ซม. จำนวน 2 แผลที่บริเวณผิวหนังส่วนหลังจากนั้นจึงเริ่มให้สารทดสอบตามกลุ่มเป็นเวลา 7 วัน หรือ 14 วัน เมื่อครบกำหนดเวลา หนูจะถูกฆ่าและนำมาประเมินผล จากผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นเวลา 14 วัน จะมีขนาดของเซลล์ผิวหนังคีราติโนไซต์ (keratinocyte) ใหญ่กว่า และมีกิจกรรมภายในไซโตพลาสซึมมากกว่าของหนูในกลุ่ม ovx นอกจากนี้ยังพบว่า macrophage migration inhibitory factor (MIF) ของหนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อน มีระดับลดลง โดย MIF เป็นสารในร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบ จากการทดลองแสดงให้เห็นว่า ฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อนเกิดจากการเพิ่มการแลกเปลี่ยนสารต่างๆ ผ่านไซโตพลาสซึมภายในของเซลล์ผิวหนังและกลไกการยับยั้ง MIF

Songklanakarin J Sci Technol 2015;37(4):417-23