การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา tamsulosin และสารสกัดจากปาล์มใบเลื่อยในการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต

การศึกษาทางคลินิกแบบเปิดเผยและสุ่ม (An open-label, randomized trial) ในผู้ป่วยชายชาวเกาหลีที่มีอาการของภาวะต่อมลูกหมากโตจำนวน 120 คน อายุระหว่าง 50 - 80 ปี โดยผู้ป่วยจะถูกสุ่มให้ได้รับยา tamsulosin (ยาสำหรับรักษาภาวะต่อมลูกหมากโตโดยออกฤทธิ์ยับยั้ง α1 receptor แบบเฉพาะเจาะจง) ขนาด 0.2 มก./วัน + สารสกัดจากปาล์มใบเลื่อย (Serenoa repens ) ขนาด 320 มก./วัน จำนวน 60 คน หรือได้รับเฉพาะยา tamsulosin ขนาด 0.2 มก./วัน จำนวน 60 คน ทำการทดสอบนาน 12 เดือน จากการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับยา tamsulosin ร่วมกับสารสกัดจากปาล์มใบเลื่อยมีค่า Prostate Symptom Scores (IPSS) ลดลงดีกว่ากลุ่มที่ได้รับเฉพาะยา tamsulosin และอาการต่างๆ จากภาวะต่อมลูกหมากโตลดลงได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับเฉพาะยา tamsulosin แต่คุณภาพชีวิต อัตราการไหลของปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะค้าง และระดับ PSA (prostate-specific antigen) ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้ความผิดปกติของต่อมลูกหมาก รวมทั้งขนาดต่อมลูกหมากของทั้ง 2 กลุ่มมีค่าไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบอาการอันไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยจำนวน 8 รายของกลุ่มที่ได้รับเฉพาะยา tamsulosin และจำนวน 10 รายของกลุ่มที่ได้รับยา tamsulosin ร่วมกับสารสกัดจากปาล์มใบเลื่อย อาการที่พบคือ การหลั่งน้ำกามผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่าทาง วิงเวียน ปวดศีรษะ ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เยื่อจมูกอักเสบ และอ่อนแรง จากผลการทดลองทำให้อาจสรุปได้ว่า การใช้ยา tamsulosin ร่วมกับสารสกัดจากปาล์มใบเลื่อย มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยา tamsulosin เพียงอย่างเดียวในแง่ของการบรรเทาอาการเมื่อใช้เป็นเวลา 12 เดือน

Urol Int 2015;94(2):187-93