คำถาม : การสกัดน้ำมันหอมระเหย
  • สารสกัดยูจีนอลจากใบกระเพรา ใบโหระพา และใบพลู หลังจากกลั่นด้วยไอน้ำจนได้น้ำมันหอมระเหยออกมาโดยใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลาย
    1. ขอวิธีและขั้นตอนการทดลองข้างต้นทั้งหมดครับ
    2. น้ำมันหอมระเหยที่ได้มาต้องการสารยูจีนอลเพียงอย่าวเดียวต้องทำอย่างไรครับ

  • Date : 24/6/2568 16:36:00
คำตอบ : 1. การสกัดโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ จะเป็นวิธีการสกัดสารออกจากของผสมโดยใช้ไอน้ำเป็นตัวทำละลาย การสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (water distillation) จะต้องมีชุดกลั่นที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะสำหรับกลั่นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย เตาให้ความร้อน หม้อกลั่น เครื่องควบแน่น (condenser) ภาชนะรองรับน้ำมัน หรือ clevenger-type apparatus โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ล้างทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำ แล้วหั่นพืชเป็นชิ้นเล็ก ๆ ชั่งน้ำหนัก แล้วนำไปใส่ในหม้อกลั่น
- เติมน้ำลงในหม้อกลั่นให้ท่วมวัตถุดิบประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาตรหม้อกลั่น
- นำหม้อกลั่นตั้งบนเตาไฟต่อท่อเครื่องควบแน่นเข้ากับหม้อกลั่นที่หล่อด้วยน้ำเย็น และต่อกับภาชนะรองรับของเหลวที่ออกมาจากเครื่องควบแน่น
- เปิดเตาให้ความร้อนแก่หม้อกลั่นจนน้ำเดือด ไอน้ำจะนำพาน้ำมันหอมระเหยจากวัตถุดิบขึ้นไปในเครื่องควบแน่น เมื่อเจอกับความเย็น ไอน้ำและไอน้ำมันหอมระเหยจะควบแน่นเป็นขอเหลวไหลลงส่งภาชนะรองรับ โดยน้ำมันหอมระเหยจะแยกชั้นกับน้ำ
- เวลาที่ใช้สกัดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณวัตถุดิบพืชที่ใช้สกัด ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง หรือสังเกตว่าน้ำมันที่สกัดได้ในภาชนะรองมีปริมาณที่ไม่เพิ่มขึ้น
- ปิดเตาให้ความร้อน รอจนอุณหภูมิเย็นลง และน้ำมันแยกชั้นกับน้ำอย่างสมบูรณ์ สังเกตว่าน้ำมันใส (ส่วนใหญ่เป็นของเหลวชั้นบน) จึงแยกน้ำมันออกจากน้ำโดยเทลงในภาชนะทรงผอมๆ แล้วใช้หลอดหยดดูดน้ำมันออกมา
- หากมีน้ำปนมาสามารถกำจัดน้ำได้โดยการเติมผงแอนไฮดรัสโซเดียมซัลเฟต จนผงไม่จับตัวเป็นก้อน แล้วกรองเอาผงแอนไฮดรัสโซเดียมซัลเฟต ดัวยกระดาษกรอง
- น้ำมันหอมระเหยที่ได้เก็บในขวดสีชาป้องกันแสง
2. การวิเคราะห์สารยูจีนอลหรือสารที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยนั้น สามารถใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Gas chromatography-mass spectrometry (GC-MS) วิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ (Qualitative and Quantitative) เพื่อให้ทราบถึงชนิดและปริมาณขององค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่นำมาทดสอบ

อ้างอิง :
- ถาม-ตอบเก่า
- Kumar A, Shukla R, Singh P, Dubey NK. Chemical composition, antifungal and antiaflatoxigenic activities of Ocimum sanctum L. essential oil and its safety assessment as plant based antimicrobial. Food Chem Toxicol. 2010;48(2):539-43.
- El-Soud NH, Deabes M, El-Kassem LA, Khalil M. Chemical composition and antifungal activity of Ocimum basilicum L. essential oil. Open Access Maced J Med Sci. 2015;3(3):374-9.