คำถาม : วิธีการสกัดสารฟลาโวนอยด์จากใบทับทิม
  • -อยากทราบวิธีการสกัดสารฟลาโวนอยด์จากใบทับทิม ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย
    -อยากทราบว่าระดับของสารแต่ละตัวที่ออกมาหลังจากสกัดแล้วมีปริมาณเท่าใด พิสูจน์ได้ด้วยวิธีใด อย่างง่าย การศึกษานี้ใช้ในระดับมัธยมศึกษาใช้งบประมาณไม่สูงนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

  • Date : 31/1/2568 12:37:00
คำตอบ : การสกัดสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์อย่างง่าย ๆ สามารถสกัดได้ด้วยการนำผงสมุนไพรมาหมักหรือแช่ในตัวทำละลาย เช่น เมทานอล เอทานอล โดยอาจหมักทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นจึงกรอง และนำสารสกัดที่ได้ไประเหยตัวทำละลายออกด้วยเครื่องระเหยความดันต่ำ (rotary evaporator) หรือตั้งบนหม้ออังไอน้ำ (water bath) ซึ่งจะได้สารสกัดแห้ง แต่การตั้งบนหม้ออังไอน้ำอาจทำให้สารบางชนิดสลายตัวเนื่องจากความร้อนได้

การตรวจสอบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ด้วยวิธี Alkaline reagent test ทำได้โดยเตรียม stock solution โดยนำสารสกัด 1 ก. มาละลายใน methanol 100 มล. จากนั้นนำ stock solution 1 มล. มาหยดด้วยสารละลายเจือจางของ sodium hydroxide (NaOH) ประมาณ 2-3 หยด หากมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์จะสังเกตเห็นสีเหลืองเข้ม และสีจะหายไปเมื่อหยดสารละลายเจือจางของ sulfuric acid (H2SO4) ลงไป 2-3 หยด

การวิเคราะห์หาปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม (Total Flavonoid Content, TFC) ทำได้โดยวิธี Aluminum chloride colorimetric method โดยนำตัวอย่างที่ต้องการทดสอบขนาด 1 มล. มาผสมกับสารละลายอะลูมิเนียมไตรคลอไรด์ (AlCl3 reagent) ความเข้มข้น 20 ก./ล. ขนาด 1 มล. เจือจางด้วย ethanol ให้ได้สารปริมาณ 25 มล. ทิ้งไว้ 40 นาที จากนั้นนำไปวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วย UV spectrophotometer ที่ความยาวคลื่น 415 นาโนเมตร นำค่าที่ได้เทียบกับกราฟของสารละลายมาตรฐานrutin หรือ quercetin (สารมาตรฐานเปรียบเทียบ) และคำนวณปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวมรวมในรูปมิลิกรัมสมมูลสารมาตรฐานเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตามวิธีข้างต้นเป็นเพียงวิธีทดสอบว่าสารสกัดที่ได้มีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์หรือไม่ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของสารได้ หากต้องการพิสูจน์โครงสร้างสารและหาปริมาณสารสำคัญแต่ละชนิดในสารสกัด ต้องใช้เทคนิคทาง chromatography และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือให้ห้องปฏิบัติการหลายอย่าง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ สำหรับการทำโครงงานในระดับมัธยมศึกษา อาจทำเฉพาะการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ของสารสกัดเบื้องต้นก่อนจะสะดวกกว่าค่ะ ซึ่งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการหลายแห่งที่รับตรวจวิเคราะห์ เช่น ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ (ฝ่ายสมุนไพร) โทร: 096-812-3539 อีเมล์: mucapqnp@gmail.com ซึ่งท่านสามารถคุยรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก่อนได้ค่ะ