คำถาม : ยาดม- ถ้าจะทำยาดมกลิ่นกาแฟ ถ้าใช้เมนทอล การบูร ควรใช้ในปริมาณเท่าไหร่ในการผสมกันแล้วไม่เป็นผลเสียต่อร่างกาย เมนทอล การบูรควรใช้ปริมาณเท่าไหร่ที่ไม่ส่งผลเสีย พอจะมีหนังสือหรือแหล่งอ้างอิง วิจัยในไทยให้อ่านด้วยไหมคะ
- Date : 29/11/2567 17:55:00
คำตอบ : ผลิตภัณฑ์ยาดม ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เมนทอล การบูร พิมเสน และน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสูตรตำรับของแต่ละผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบหลักในยาดมทั้ง 3 ชนิด มีข้อควรระวังในการใช้สูดดม ซึ่งระบุว่าไม่ควรสูดดมในลักษณะที่มีความเข้มข้นมาก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจได้ แต่ไม่ได้มีการระบุถึงขนาดหรือปริมาณการใช้ในผลิตภัณฑ์ที่แน่ชัด การเตือนถึงอันตรายมักเป็นลักษณะของพฤติกรรมการใช้คือ ไม่ควรสูดดมในปริมาณที่มากหรือสัมผัสโดยตรงและบ่อยครั้งมากเกินไป และผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโพรงจมูกควรหลีกเลี่ยงการใช้ (1-2)
การสืบค้นข้อมูลงานวิจัย พบรายงานาการสูดดมการบูรมากกว่า 2 ส่วนในล้านส่วน (ppm)* จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและลำคอ กดระบบการหายใจและอาจเกิดการหยุดหายใจชั่วขณะ หากสูดดมในปริมาณที่มาก ๆ อาการจะคล้ายกับอาการพิษที่เกิดจากการรับประทานเข้าไป คือ คลื่นไส้ อาเจียน รูม่านตาขยาย ปวดหัว ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตจากการที่ระบบหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงไม่ควรสูดดมในปริมาณมาก ๆ และระยะเวลานาน ๆ แม้ว่ายังไม่พบรายงานการเกิดพิษในระยะเวลานาน (chronic poisoning) ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น และมีข้อระวังสำหรับการใช้ตำรับหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการบูรในเด็กและทารก หากรับประทานหรือสัมผัสปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคือง และชักได้ (3-4)
* (ppm) คิดเป็นหน่วยปริมาตรคือ มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้น 2 ppm หมายความว่า มีปริมาณของสาร 2 มิลลิกรัมในสารละลาย 1 ลิตร
อ้างอิง :
1. ยามดมมีอันตรายหรือไม่.
https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0106.pdf
2. วิธีใช้ยาดมอย่างเหมาะสม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น.
https://hdmall.co.th/blog/health/how-to-use-smelling-salts/
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาไทย คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี. การบูร.
https://apps.phar.ubu.ac.th/thaicrudedrug/main.php?action=viewpage&pid=19
4. Camphor poisoning: an evidence-based practice guideline for out-of-hospital management. Clinical Toxicology. 2006;44:357-370.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16809137/