คำถาม : ต้อยติ่ง- สวัสดีครับ ขอรบกวนครับ อยากได้ข้อมูลของต้อยติ่ง เกี่ยวกับสรรพคุณ
และวิธีนำไปใช้ในการรักษาโรคไตเสื่อม ซึ่งชาวบ้านนำไปใช้และบอกต่อ ๆ กันไปว่าใช้ได้ผล
ในต้อยติ่งมีเภสัชสารอะไรบ้างครับ
มีอยู่ในส่วนไหนของพืชครับ
- Date : 29/11/2567 17:15:00
คำตอบ : จากการสืบค้นข้อมูล พบพืช 2 ชนิด ที่ใช้ชื่อสามัญ ต้อยติ่ง เหมือนกันคือ ต้อยติ่ง (Hygrophila erecta Hochr.) มีชื่อพ้องหรือชื่อเรียกอื่น ๆ คือ ต้อยติ่งไทย ต้อยติ่งนา มีสรรพคุณตามตำรายาไทยคือ ราก ใช้ดับพิษ แก้ปัสสาวะพิการ ใบ เป็นยาพอกแผล อุดฟัน แก้ปวดฟัน เมล็ด ใช้พอกแผล แก้แผลเป็นหนอง แก้แผลเปื่อย ทำให้แผลหายเร็ว สมานแผล ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ดูดน้ำหนอง ถอนพิษปวดแสบปวดร้อนที่บาดแผล ส่วนอีกต้นหนึ่งคือ ต้อยติ่ง (Ruellia tuberosa L.) มีสรรพคุณตามตำรายาไทยคือ ราก ใช้ดับพิษ แก้ปัสสาวะพิการ ฟอกโลหิตระดู แก้เสมะและลมเจริญธาตุไฟ ทำให้อาเจียน ใบ เป็นยาพอกแผล อุดฟัน แก้ปวดฟัน เมล็ด ใช้พอกแผล แก้แผลเป็นหนอง แก้แผลเปื่อย ทำให้แผลหายเร็ว สมานแผล และดูดหนองได้ดี ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ดูดน้ำหนอง ถอนพิษปวดแสบปวดร้อนที่บาดแผล แก้เสมหะ ขับลม เจริญอาหาร เจริญไฟธาตุ (1)
การสืบค้นข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต้นต้อยติ่ง (Hygrophila erecta Hochr.) พบว่า ต้นต้อยติ่ง (ทั้งต้น) มีสาร 4-methoxybenzoic acid, 4-methoxycinnamic acid, Methyl linoleiate, Methyl stearate, Lupeol, β-Sitosterol และ Stigmasterol (2) และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคือ ต้านอนุมูลอิสระ ละลายลิ่มเลือด แก้ปวด แก้ท้องเสีย และยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน (2-3)
การสืบค้นข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต้นต้อยติ่ง (Ruellia tuberosa L.) พบว่า ทั้งต้นพบสารกลุ่ม phenol, flavonoids, steroids, triterpenoids, alkaloid, coumarin, tannin, furanoid และน้ำมันหอมระเหย (4-5) และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคือ ต้านการอักเสบ รักษาแผล ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านเบาหวาน ลดไขมันในเลือด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และฆ่าพยาธิบางชนิด (6)
ยังไม่พบรายงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้เพื่อรักษาโรคไตหรือปกป้องความเป็นพิษต่อไตของพืชทั้ง 2 ชนิด จึงไม่สามารถแนะนำวิธีการใช้เพื่อรักษาโรคไตเสื่อมได้ค่ะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตเสื่อม ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรเสริมในการรักษาอาการ เนื่องจากไตทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย การใช้สมุนไพรเสริมจะยิ่งไปเพิ่มภาระให้ตับและไตทำงานมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับอาการของโรคที่เป็นอยู่ได้ โดยเฉพาะหากเป็นไตวายระยะที่ 3 และ 4 อาจทำเกิดอาการจากการที่แร่ธาตุบางอย่างสะสมในร่างกายสูงเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อ้างอิง :
1. หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2
2. Isolation and Charracterization of secondary metabolites and evaluation of biological activity of Hygrophila erecta (Burm.f.) Hochr.
https://bjmhr.com/bjmhr_admin/uploads/publish_pdf/BJMHR701101.pdf
3. Antioxidative Role of Hygrophila erecta (Brum. F.) Hochr. on UV-Induced Photoaging of Dermal Fibroblasts and Melanoma Cells.
https://www.mdpi.com/2076-3921/11/7/1317
4. Pharmacognostic and Preliminary Phytochemical Studies on Ruellia tuberosa L. (Whole plant).
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0975357511800362
5. Composition of volatile oils from leaf, stem, root, fruit, and flower of Ruellia tuberosa L. (Acanthaceae) from Nigeria.
https://academicjournals.org/journal/JMPR/article-full-text/B3B14EA56244
6. Ethnomedicinal Uses, Phytochemistry, Pharmacology, and Toxicology of Ruellia tuberosa L.: A Review.
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/cbdv.202400292