คำถาม : การกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอ
  • จะซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย (หม้อต้มและควบแน่น) จากจีน มาทดลองทำน้ำมันหอมจากเปลือกส้มโอ เอาไปผสมสบู่เหลว มีขั้นตอนที่เหมาะสม และจะได้ yield ต่อน้ำหนักพืช ประมาณเท่าไรครับ
  • Date : 31/10/2567 17:28:00
คำตอบ : การกลั่นด้วยน้ำ (water distillation/hydrodistillation) คือการนำพืชที่ต้องการกลั่นมาใส่ในหม้อกลั่น แล้วเติมน้ำจนท่วมพืช ต้มจนน้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดระเหยเป็นไอ ไอน้ำจะช่วยพาน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเนื้อเยื่อพืชออกมา เมื่อผ่านเครื่องควบแน่น ไอน้ำและไอของน้ำมันหอมระเหยจะควบแน่นเป็นของเหลว ได้เป็นน้ำและน้ำมันหอมระเหยแยกออกจากกัน พบรายงานการศึกษาการกลั่นเปลือกส้มโอด้วยน้ำ โดยนำเปลือกส้มโอส่วนเขียว 1 กก. ปั่นกับน้ำ 2 ลิตร ด้วยเครื่องปั่นผลไม้ ก่อนนำไปตั้งไฟ จะได้ผลผลิตของน้ำมันหอมระเหยประมาณ 2.33% (เฉลี่ย 23.33 มล./เปลือกส้มโอ 1 กก.) (1) การศึกษาเปรียบเทียบการกลั่นเปลือกส้มโอพันธุ์เนื้อผลสีขาว และพันธุ์เนื้อผลสีแดง ขนาด 300 ก. (อัตราส่วนของเปลือกส้มและน้ำ = 1:3) เป็นเวลา 24 ชม. พบผลผลิตน้ำมันน้ำมันหอมระเหยของเปลือกส้มโอเนื้อผลสีขาว 1.09% และเปลือกส้มโอเนื้อผลสีแดง 0.96% ตามลำดับ (2) การกลั่นเปลือกส้มโอพันธุ์ทองดีเปรียบเทียบกับพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง โดยใช้เปลือกส้มโอ 60 ก. ต่อน้ำ 350 มล. ผลพบว่าเปลือกส้มโอพันธุ์ทองดีได้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหย 1 มล. ส่วนพันธุ์ขาวน้ำผึ้งได้น้ำมันหอมระเหย 0.6 มล. (3) และการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอ ด้วยวิธีการกลั่นเปลือกส้มโอ 2 กก. ด้วยน้ำ 3 ล. เป็นเวลา 4-6 ชม. จะได้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหย 0.80% (4) จะเห็นได้ว่าผลผลิตน้ำมันหอมระเหยที่ได้ มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัตถุดิบและสภาพแวดล้อมในการสกัดค่ะ

อ้างอิง :
1. ณัฏฐินี อนันตโชค. การพัฒนาการสกัดและพัฒนาคุณภาพของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอระดับห้องปฏิบัติการเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม. รายงานวิจัยฉบับสมบรูณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. 2552.
2. Chandra Das S, Hossain M, Hossain MZ, Jahan N, Uddin MA. Chemical analysis of essential oil extracted from pomelo sourced from Bangladesh. Heliyon. 2022 Nov 30;8(12):e11843. doi: 10.1016/j.heliyon.2022.e11843. PMID: 36478837; PMCID: PMC9720520.
3. เจะนูรวาตี กาเร็ง, นัฏจุรี เจ๊ะฆอ. การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอ. ครุศาสตรบัณฑิต (เคมี). มหาวิทยาลัยราชภัฎยครศรีธรรมราช. 2547.
4. พัชราภรณ์ วาณิชย์ปกรณ์, นันทวุฒิ สวนกูล, มัตตนา กล้าคง. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่าและเปลือกส้มโอต่อการฆ่าปลวกใต้ดินสายพันธุ์ Coptotermes curvignathus. Khon Kaen agriculture journal. 2021;suppl1:789-94.