คำถาม : การวัด DPPH
  • สารสกัดที่ละลายแล้ววมีสีเหลืองน้ำตาลๆ ควรวัด dpph ยังไงค่ะ
  • Date : 30/9/2567 16:49:00
คำตอบ : ก่อนที่จะนำสารสกัดไปทดสอบ ต้องมีการเจือจางด้วยตัวทำละลายเช่น เมทานอล เพื่อหาช่วงความเข้มข้นที่เหมาะสม สำหรับนำไปทดสอบ คุณอาจอ้างอิงข้อมูลจาก paper หรือทดลองเอง เช่น อัตราส่วนของสารสกัด:ตัวทำละลาย เป็น 1:1, 1:10, 1:50 เป็นต้น และโดยปกติในการวัดค่า DPPH จะต้องมีการวัดค่าการดูดกลืนแสงของสารละลาย DPPH ผสมตัวทำละลายที่ใช้ละลายสารตัวอย่าง, ค่าการดูดกลืนแสงของตัวทำละลายที่ใช้ละลายสารตัวอย่างผสมตัวทำละลายที่ใช้ละลาย DPPH, ค่าการดูดกลืนแสงของสารละลาย DPPH ผสมสารละลายตัวอย่างที่ต้องการทดสอบ, ค่าการดูดกลืนแสงของสารละลายตัวอย่างที่ต้องการทดสอบที่ความเข้มข้นเดียวกันผสมตัวทำละลายที่ใช้ละลาย DPPH โดยอัตราส่วนและความเข้มข้นของสารละลายที่ผสมกันขึ้นกับวิธีการทดสอบ ซึ่งสามารถไปค้นคว้าได้จากรายงานวิจัยต่าง ๆ เมื่อได้ค่าการดูดกลืนแสงดังกล่าว นำมาคำนวณหาค่า ร้อยละของการยับยั้ง DPPH ได้จำสมการการคำนวณ

% Inhibition = [(Acontrol – Asample)/Acontrol]×100   .... โดยค่า

Acontrol = ค่าการดูดกลืนแสงของสารละลาย DPPH ผสมตัวทำละลายที่ใช้ละลายสารตัวอย่างลบกับค่าการดูดกลืนแสงของตัวทำละลายที่ใช้ละลายสารตัวอย่างผสมตัวทำละลายที่ใช้ละลาย DPPH

Asample = ค่าการดูดกลืนแสงของสารละลาย DPPH ผสมสารละลายตัวอย่างที่ต้องการทดสอบ ลบกับค่าการดูดกลืนแสงของสารละลายตัวอย่างที่ต้องการทดสอบที่ความเข้มข้นเดียวกันผสมตัวทำละลายที่ใช้ละลาย DPPH

หมายเหตุ
จากสูตรการคำนวณข้างต้นหากสารสกัดมีสี ค่าการดูดกลืนแสงของสารสกัดก็จะถูกนำไปหักลบกับค่าการดูดกลืนแสงของสารสกัดที่ทำปฏิกิริยากับ DPPH โดยค่าการดูดกลืนแสงที่นำมาหักลบต้องมาจากสารสกัดที่ความเข้มข้นเดียวกัน นอกจากนี้ตัวทำละลายที่ใช้ละลายสารตัวอย่างและ DPPH จะต้องละลายเข้ากันได้ และไม่ทำให้สารตัวอย่างหรือ DPPH ตกตะกอนเมื่อนำมาผสมกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกใช้ เมทานอล หรือเอทานอลเป็นตัวทำละลาย โดยสามารถศึกษาวิธีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดได้จากรายงานวิจัยต่าง ๆ เช่น
1. การประเมินความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาอำมฤตย์
>https://rsucon.rsu.ac.th/files/proceedings/nation2020/NA20-049.pdf
2. อนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ และการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระ
>https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tstj/article/view/12696/11399
3. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดจากเนื้อผลต้นตาลโตนด
https://opac1.lib.buu.ac.th/medias3/b00332148/57210211.pdf