คำถาม : สมุนไพรกระดูกไก่ดำ- 1.สมุนไพรกระดูกไก่ดำเพียงตัวเดียวสามารถทำเป็นแท่งบาล์มลดปวดกล้ามเนื้อได้ไหมคะ
2.ต้องใช่ใบแก่หรือใบอ่อนของสมุนไพรกระดูกไก่ดำในการทำสารสกัดของสมุนไพรคะ และต้องใช้ใบที่ปลูกกี่วัน หรือระยะเวลาการปลูกที่จะนำมาสกัดใช้ เป็นระยะเวลาเท่าไร
3.มีสมุนไพรตัวไหนที่เป็นตัวพา หรือเพิ่มประสิทธิภาพการซึมของบาล์มให้ดียิ่นขึ้นไหมคะ
4.ปริมาณในการใช้สมุนไพรกระดูกไก่ดำในการทาภายนอกลดอาการปวด ควรใช้ในปริมาณเท่าไหร่คะ
5.ถ้าใช้สมุนไพรไก่ดำผสมกับbee wax เพื่อขึ้นรูปจะทำให้สารสกัดสมุนไพรกระดูกไก่ดำลดลงหรือไม่
- Date : 30/9/2567 16:26:00
คำตอบ : 1. การทำผลิตภัณฑ์แท่งบาล์มจะใช้สารสกัดของกระดูกไก่ดำเป็นองค์ประกอบสำคัญได้โดยผสมกับสารช่วยอื่นๆ ที่ใช้ทำบาล์มขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้พัฒนาตำรับหรือผู้ผลิต หรืออาจผสมเมทอล พินเสน การบูร หรือน้ำมันหอมระเหยอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเย็น และกลิ่นหอมน่าใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับบาล์มอื่นๆ ในท้องตลาด
2. สำหรับอายุของใบกระดูกไก่ดำที่เหมาะสมนั้น จากการสืบค้นข้อมูลยังไม่พบรายงานเปรียบเทียบสารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของใบที่อายุต่าง ๆ กัน ดังนั้นในการเตรียมสารสกัดสามารถใช้ใบที่ได้จากทั้งต้นกระดูกไก่ดำ แต่หากอยากทราบอายุใบที่เหมาะสมจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
3. การดูดซึมของตัวยาผ่านผิวหนังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่คุณสมบัติของสารสำคัญเอง เช่นความสามารถในการละลายในไขมันซึ่งเป็นองค์ประกอบในชั้นผิวหนัง และลักษณะของผิวหนัง โดยผิวหนังที่มีความชุมชื้นผิวหนังจะมีความพองตัวทำให้สารดูดซึมผ่านผิวหนังได้ง่ายกว่าผิวหนังที่แห้ง ดังนั้นสารที่น่าจะช่วยการดูดซึมของสารสำคัญได้ เช่น ส่วนช่วยในตำรับที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ส่วนตัวอย่างสารจากสมุนไพรที่ให้ผิวหนังชุ่มชื้นส่วนใหญ่จะเป็นพวกน้ำมันพืช ซึ่งที่นิยมใช้ในตำรับยาใช้ภายนอก ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันรำข้าว เป็นต้น
4. ปริมาณสารจากกระดูกไก่ดำในตำรับที่เหมาะสมนั้นยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน มีแต่รายงานการศึกษาฤทธิ์ของยาเตรียมสารสกัดกระดูกไก่ดำในรูปแบบสเปรย์ และน้ำมันนวดที่ใส่สารสกัดกระดูกไก่ดำด้วยเอทานอลขนาดต่าง ๆ กัน แล้วนำมาทดสอบประสิทธิภาพในการลดอการปวดกล้ามเนื้อ หรือการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ และรายงานการพัฒนาตำรับครีมที่มีสารสกัดใบกระดูกไก่ดำด้วย 95% เอทานอล ขนาด 1.5% หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมต้องสืบค้นและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหรือรายงานวิจัยต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ
5. รายงานพบว่ากระดูกไก่ดำมีสารสำคัญกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น vitexin, apigenin, quercetin นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหย ที่ประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น 1-nonanol, α-ionone, trans-β-ionone และ isopropyl myristate ทั้งสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และน้ำมันหอมระเหยไม่คงตัวเมื่อสัมผัสกับความร้อน ดังนั้นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ด้วย bee wax ถ้าใช้ความร้อนอาจมีผลให้ปริมาณสารสำคัญลดลงได้
คำถามบางอย่างอาจไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนเนื่องจากไม่มีรายงานวิจัย อาจต้องลองทำการวิจัยทดลองเอง หรือสามารถสืบค้นข้อมูลรายงานวิจัยเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ การสกัดหรือฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้โดยการสืบค้นด้วยชื่อวิทยาศาสตร์ของกระดูกไก่ดำ คือ Justicia gendarussa Burm.f. ข้อมูลที่ได้การงานวิจัยที่ผ่านมาจะสามารถช่วยให้เราสามารถศึกษาต่อยอดได้เพื่อหาคำตอบที่ต้องการ
อ้างอิง :
1. https://www.researchgate.net/profile/Anusara-Sihanat-2/publication/357164958_Product_development_and_the_opinion_assessment_on_herbal_extract_external_use_of_Justicia_gendarussa_burm_f/links/61bf158da6251b553acc3b0c/Product-development-and-the-opinion-assessment-on-herbal-extract-external-use-of-Justicia-gendarussa-burm-f.pdf
2. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JTTAM/article/view/247422/174199
3. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JTTAM/article/view/251913/172664
4. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JTTAM/article/view/186333/130928
5. https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=390