คำถาม : Eugenol จากกานพลู
  • สกัด Eugenol จากกานพลู อบเชย ใบพลู โหระพา ตะไคร้ ด้วยวิธีไหนดีที่สุด
  • Date : 30/8/2567 17:11:00
คำตอบ : Eugenol เป็นสารในกลุ่มน้ำมันหอมระเหย ในการสกัดน้ำมันหอมระเหยนิยมการสกัดด้วยไอน้ำ เนื่องจากวิธีการที่สะดวก วิธีการไม่ซับซ้อน และสามารถใช้กับพืชได้หลายชนิด หลักการคือใช้ไอน้ำที่มีจุดเดือดต่ำกว่าเป็นตัวพาน้ำมันหอมระเหยออกมาควบแน่นที่อุณหภูมิต่ำ ของเหลวที่ควบแน่นออกมาจะแยกเป็นสองชั้นคือชั้นของน้ำและน้ำมันหอมระเหย แล้วจึงแยกเอาเฉพาะส่วนของน้ำมันหอมระเหยไปใช้
การสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (water distillation) จะต้องมีชุดกลั่นที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะสำหรับกลั่นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย เตาให้ความร้อน หม้อกลั่น เครื่องควบแน่น (condenser) ภาชนะรองรับน้ำมัน หรือ clevenger-type apparatus โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ล้างทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำ แล้วหั่นพืชเป็นชิ้นเล็ก ๆ ชั่งน้ำหนัก แล้วนำไปใส่ในหม้อกลั่น
2. เติมน้ำลงในหม้อกลั่นให้ท่วมวัตถุดิบประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาตรหม้อกลั่น
3. นำหม้อกลั่นตั้งบนเตาไฟต่อท่อเครื่องควบแน่นเข้ากับหม้อกลั่นที่หล่อด้วยน้ำเย็น และต่อกับภาชนะรองรับของเหลวที่ออกมาจากเครื่องควบแน่น
4. เปิดเตาให้ความร้อนแก่หม้อกลั่นจนน้ำเดือด ไอน้ำจะนำพาน้ำมันหอมระเหยจากวัตถุดิบขึ้นไปในเครื่องควบแน่น เมื่อเจอกับความเย็น ไอน้ำและไอน้ำมันหอมระเหยจะควบแน่นเป็นขอเหลวไหลลงส่งภาชนะรองรับ โดยน้ำมันหอมระเหยจะแยกชั้นกับน้ำ
5. เวลาที่ใช้สกัดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณวัตถุดิบพืชที่ใช้สกัด ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง หรือสังเกตว่าน้ำมันที่สกัดได้ในภาชนะรองมีปริมาณที่ไม่เพิ่มขึ้น
6. ปิดเตาให้ความร้อน รอจนอุณหภูมิเย็นลง และน้ำมันแยกชั้นกับน้ำอย่างสมบูรณ์ สังเกตว่าน้ำมันใส (ส่วนใหญ่เป็นของเหลวชั้นบน) จึงแยกน้ำมันออกจากน้ำโดยเทลงในภาชนะทรงผอมๆ แล้วใช้หลอดหยดดูดน้ำมันออกมา
7. หากมีน้ำปนมาสามารถกำจัดน้ำได้โดยการเติมผงแอนไฮดรัสโซเดียมซัลเฟต จนผงไม่จับตัวเป็นก้อน แล้วกรองเอาผงแอนไฮดรัสโซเดียมซัลเฟต ดัวยกระดาษกรอง
8. น้ำมันหอมระเหยที่ได้เก็บในขวดสีชาป้องกันแสง และเก็นในตู้เย็นจะมีอายุนานขึ้น

สามารถศึกษารายละเอียดวิธีการสกัดดังกล่าวเพิ่มเติมได้จาก
1. รายงานผลงานวิจัย : การศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากไพลโดยการกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ
http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/research/2558/mookarin_nookong_2558/fulltext.pdf