คำถาม : เพชรสังฆาต เข่าเสื่อม ยาต้านฮอร์โมน
  • ดิฉัน อายุ 65 ปี เพิ่งจบการรักษามะเร็งเต้านม ขนาด 2 ซม. กับการรักษาแผนปัจจุบันเสร็จสิ้นลง เมื่อต้นเดือน พค 67 และต้องทานยาต้านฮอร์โมน เป็นเวลา 5 ปี นับจากนี้ เคยเป็นเข่าเสื่อม หลายปี หายปวดเข่าไปเพราะทานสมุนไพรงาดำ แต่ได้ข้อมูลว่างาดำมีส่วนในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เลยงดทาน 5-6 เดือนมาแล้ว ตอนนี้มีอาการปวดเข่าอีก จึงต้องการหาสมุนไพร ตัวอื่นมาทดแทน ซึ่งน่าจะเป็น เพชรสังฆาตจึงเรียนมาขอคำแนะนำ ว่า ทานเพชรสังฆาต ช่วยลดปวดเข่า จะได้ไหมคะ โดยไม่ส่งเสริมการสร้างฮอร์โมนหญิง หรือแนะนำสมุนไพรตัวอื่นที่ทดแทนได้ก้อจะขอบคุณมากๆค่ะ
  • Date : 28/6/2567 17:11:00
คำตอบ : มีข้อมูลงานวิจัยระบุว่าเพชรสังฆาตมีฤทธิ์แก้ปวด แต่เป็นงานวิจัยในสัตว์ทดลอง ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่ชัดเจน และยังมีงานวิจัยพบว่าเพชรสังฆาตมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (estrogenic activity) ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของร่างกาย จึงไม่แนะนำให้รับประทานค่ะ สำหรับสมุนไพรที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ข้อมูลจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2566 เช่น เถาวัลย์เปรียงก็มีฤทธิ์มีคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง หรือสารสกัดขมิ้น” (Curcuminoids) จากขมิ้นชัน ก็มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจเสริมฤทธิ์ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผู้ป่วยได้รับ และอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของร่างกายเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอาจเลือกใช้สารสกัดขมิ้นที่ระบุข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดในโรคข้อเสื่อม โดยอาจต้องปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วย เพื่อติดตามอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมฤทธิ์ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อาจจะใช้สมุนไพรในรูปแบบการใช้ภายนอก เช่น ครีมทาเพื่อบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ น้ำมันไพล หรือลูกประคบสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ แนะนำควรรีบปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมวางแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี

อ้างอิง :
- บทความ เพชรสังฆาต...เพชฌฆาตปราบริดสีดวงทวาร
https://medplant.mahidol.ac.th/document/hotnews.asp?id=144
- Aswar UM, Bhaskaran S, Mohan V, Bodhankar SL. Estrogenic activity of friedelin rich fraction (IND-HE) separated from Cissus quadrangularis and its effect on female sexual function. Pharmacognosy Res. 2010;2(3):138-45. doi: 10.4103/0974-8490.65507.
- บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2566
https://herbal.fda.moph.go.th/media.php?id=553111484570411008&name=nloehd3-03.pdf
- Mohajeri M, Bianconi V, Ávila-Rodriguez MF, Barreto GE, Jamialahmadi T, Pirro M, et al. Curcumin: a phytochemical modulator of estrogens and androgens in tumors of the reproductive system. Pharmacol Res. 2020;156:104765. doi: 10.1016/j.phrs.2020.104765.
- Sae-Foo W, Nualkaew N, Yusakul G, Putalun W. Estrogenic activity of isoflavones derived from Derris scandens using MCF-7 cell. Planta Med; 88(15):1475:doi:10.1055/s-0042-1759102.
- บทความ รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อม อาการ สาเหตุ พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี โรงพยาบาลพญาไท
https://www.phyathai.com/th/article/3784-%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD