คำถาม : การวิเคราะห์ DPPH
  • หากทำการวิเคราะห์โดยใช้เพียง DPPH อย่างเดียวแต่ไม่ได้ใช้ ABTS จะมีผลอะไรไหมคะ หรือควรใช้ทั้งสองวิธี
  • Date : 30/5/2567 15:11:00
คำตอบ : โดยทั่วไปในการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหรือฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน (antioxidant) ของสารต่าง ๆ นั้น จะทดสอบโดยใช้หลายวิธีประกอบกัน เพื่อยืนยันความสามารถในการต้านออกซิเดชันของสารที่ต้องการทดสอบ เนื่องจากแต่ละวิธีมีหลักการศึกษาที่แตกต่างกันไป วิธิการที่นิยมทดสอบได้แก่ ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free radical scavenging activity) ด้วยวิธี DPPH, และ ABTS, การทดสอบความสามารถในการรีดิวซ์ (Ferric ion reducing antioxidant power) ด้วยวิธี FRAP, การทดสอบฤทธิ์ต่อการทำงานของเอ็มไซม์ต้านอนุมูลอิสระ (Cellular antioxidant enzyme activity) ด้วยวิธี Enzymatic activity, ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์ (Cellular ROS scavenging activity) ด้วยวิธี Immunocytochemistry assay เป็นต้น

การวิเคราะห์ด้วย DPPH, และ ABTS เป็นการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free radical scavenging activity) โดยทั้ง 2 วิธี เป็นการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเชิงปริมาณ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะมีการสร้างอนุมูลอิสระที่ทราบความเข้มข้นที่แน่นอนและวิเคราะห์ความสามารถในการยับยั้งหรือกําจัดอนุมูลอิสระของสารตัวอย่างที่สนใจโดยวัดปริมาณอนุมูลอิสระที่ลดลงหรือที่เหลือจากค่าการดูดกลืนแสง และคํานวณหาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระหาได้จากอัตราส่วนของการลดลงของค่าการดูดกลืนแสงของสารตัวอย่างกับสารมาตรฐาน (เช่น trolox, vitamin C และ ferrous sulfate) สามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการวิเคราะห์ได้ แต่การวิเคราะห์ด้วยวิธี DPPH จะมีกลไกการต้านอนุมูลอิสระผ่านการให้ไฮโดรเจนอะตอม ในขณะที่วิธี ABTS มีกลไกในการยับยั้งอนุมูลอิสระผ่านการให้อิเล็กตรอน การเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งผลที่ได้อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด เช่นในการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดตำรับยาอำมฤตย์ ซึ่งพบว่า มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระผ่านการให้อิเล็กตรอนได้ดีกว่า ก็จะมีความจำเพาะต่อวิธี ABTS มากกว่า (1) สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธีได้ตามเอกสารงานวิจัยที่แนบมาดังต่อไปนี้

1. การประเมินความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาอำมฤตย์
https://rsucon.rsu.ac.th/files/proceedings/nation2020/NA20-049.pdf

2. อนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ และการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระ
https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tstj/article/view/12696/11399

3. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดจากเนื้อผลต้นตาลโตนด
https://opac1.lib.buu.ac.th/medias3/b00332148/57210211.pdf