คำถาม : น้ำมันขิงที่สกัดร้อนและสกัดเย็น- รบกวนถามเกี่ยวกับการสกัดค่ะ ไม่ทราบว่าน้ำมันขิงที่สกัดร้อนและสกัดเย็นมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
- Date : 30/4/2567 16:12:00
คำตอบ : การสกัดเย็น คือ การสกัดสมุนไพรโดยไม่ใช้ความร้อน เช่น การบีบ และการแช่สกัดด้วยตัวทำละลาย เหมาะกับการสกัดสารที่ไม่ทนความร้อน หรือสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน
การสกัดร้อน คือการสกัดด้วยกรรมวิธีที่ใช้ความร้อน เช่น การกลั่นด้วยไอน้ำหรือไอน้ำ การสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการสกัดด้วยตัวทำละลายอื่น ๆ เช่น เอทานอล และใช้ความร้อนช่วยสกัดภายใต้สภาวะปิด หลังจากระเหยตัวทำละลายออกจะได้สารสกัดขิง
น้ำมันขิงถ้าหมายถึงน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าขิง จะสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำหรือไอน้ำ ซึ่งประกอบด้วยสารที่ระเหยได้ง่ายสารกลุ่มโมโนเทอร์พีนอยด์ (monoterpenoids) และเซสควิเทอร์พีนอยด์ (sesquiterpenoids) เช่น β-phellandrene, (+)-camphene, cineol, geraniol, curcumene, citral, terpineol, borneol, α-zingiberene, β-sesquiphellandrene, β-bisabolene, α-farnesene, zingiberol และพบสารสารในกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์ (phenylpropanoids) ซึ่งมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดร้อน เช่น gingerol และ shogaol (1) ส่วนสารสกัดที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลายและใช้ความร้อนช่วยสกัดเช่นการใช้ supercritical carbon dioxide และการสกัดด้วย Soxhlet ด้วยเอทานอลซึ่งเป็นระบบปิด นอกจากจะได้สารที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยแล้วยังประกอบสารกลุ่มที่ไม่ระเหยอีกด้วย เช่น สารกลุ่มไดเอริลเอปทานอยด์ (diarylheptanoids) สารกลุ่มไขมัน และกรดไขมันต่าง ๆ
น้ำมันขิงยังอาจหมายถึงการสกัดจากเหง้าขิงสดที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือผงขิงแห้งด้วยน้ำมันพืชเช่นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา เป็นต้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ประโยชน์ การสกัดด้วยวิธีนี้อาจไม่ใช้ความร้อน เช่น การแช่ขิงในน้ำมันพืช แล้วกรองเอากากออก หากสกัดด้วยความร้อนจะนำเหง้าขิงหั่นเป็นแผ่นบางแล้วไปทอดในน้ำมันพืชจนกรอบ ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วกรองเอากากออก การใช้ความร้อนจะช่วยสกัดสารที่โมเลกุลใหญ่ออกมาได้มากขึ้น ใช้เวลาน้อยกว่าการแช่สกัดแบบไม่ความร้อน แต่การทอดอาจทำให้สูญเสียสารที่ระเหยได้เช่นสารที่เป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยออกไป
นอกจากนี้น้ำมันขิงสกัดเย็นยังอาจหมายถึงน้ำมันขิงที่สกัดได้จากการบีบเย็นซึ่งไม่ผสมน้ำมันพืชอื่น ๆ สารสกัดด้วยวิธีนี้เป็นสารสกัดขิงเข็มข้นและมีราคาแพงเช่นเดียวกับน้ำมันหอมระเหยของขิงที่ได้จากการกลั่น โดยมีรายงานพบว่าน้ำมันขิงสกัดที่ได้จากวิธีการบีบเย็นประกอบไปด้วยพบสารกลุ่ม โอลิโอเรซิน ไขมัน และโทคอล (tocols) หรือวิตามินอี ได้แก่ γ- tocopherols, δ-tocotrienol และ α-tocotrienol ซึ่งกลุ่มโทคอลนี้อาจสลายตัวได้หากสกัดด้วยความร้อนเช่นกัน (2-3)
ดังนั้นน้ำมันขิงที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีต่าง ๆ จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันบ้าง นอกการวิธีการสกัดแล้วยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น สายพันธุ์ อายุ แหล่งปลูก สภาพแวดล้อมและการดูแล ล้วนส่งผลต่อองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมัน ดังนั้นการเลือกใช้น้ำมันขิงชนิดใดจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้และสารสำคัญที่ต้องการในน้ำมันเป็นหลักค่ะ
อ้างอิง :
1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. องค์ความรู้จากงานวิจัยสมุนไพรไทย 10 ชนิด: กระชายดำ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน ขิง บัวบก พริกไทย ไพล ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม มะระขี้นก. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติม 2550.
2. El Makawy AI, Ibrahim FM, Mabrouk DM, Ahmed KA, Fawzy Ramadan M. Effect of antiepileptic drug (Topiramate) and cold pressed ginger oil on testicular genes expression, sexual hormones and histopathological alterations in mice. Biomed Pharmacother. 2019 Feb;110:409-419. doi: 10.1016/j.biopha.2018.11.146.
3. Hassanien, Mohamed. Cold pressed ginger (Zingiber officinale) oil. Cold Pressed Oils. Academic Press. 2020;677-82. doi:10.1016/B978-0-12-818188-1.00059-1.