คำถาม : สารสกัดไพรีทรินจากดอกเบญจมาศ- สารสกัดไพรีทรินจากดอกเบญจมาศที่สกัดจาก soxhlet extractor ที่ใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลาย ควรใช้ความเข้มข้นเท่าใด ปริมาณเท่าใด และควรใช้ปริมาณดอกเบญจมาศเท่าใดจึงจะเหมาะสม
- Date : 30/9/2566 12:53:00
คำตอบ : จากการสืบค้นยังไม่พบรายงานการสกัดสารไพรีทริน (pyrethrins) จากดอกเบญจมาศ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysanthemum morifolium หรือ Chrysanthemum indicum แต่มีงานวิจัยที่ศึกษาการสกัดไพรีทรินซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในไพรีทรัม (pyrethrum) ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysanthemum cinerariaefolium ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเดียวกับเบญจมาศ โดยใช้วิธีการสกัดหลายวิธี เช่น percolation, sonication, soxhlet extraction, supercritical CO2 เป็นต้น และใช้ตัวทำละลายหลายชนิด เช่น hexane, ethanol, petroleum ether, ethyl acetate, acetone, acetonitrile, methanol เป็นต้น (1-4) ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดและนำมาประยุกต์ใช้ในการสกัดสารไพรีทรินจากดอกเบญจมาศได้ อย่างไรก็ตามปริมาณสาร pyrethrins ในดอกเบญจมาศ อาจมีน้อยมากหรือไม่มีเลย จึงไม่ได้มีการใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการสกัดสาร pyrethrins เพื่อการค้า แต่หากต้องการทดสอบว่าดอกเบญจมาศที่มีอยู่มีสาร pyrethrins หรือไม่และมีเท่าไหร่ สามารถทดลองสกัดได้ด้วยอุปกรณ์ที่มี โดยปริมาณผงดอกเบญจมาศแห้ง ขึ้นอยู่กับภาชนะ soxhlet extractor ที่มี และเติมเมทานอล หรือเอทานอลในขวดก้นกลมโดยใช้ปริมาตรตัวทำละลายประมาณครึ่งนึงของปริมาตรขวดก้นกลม หรือให้มีตัวทำละลายเหลือในขวดก้นกลมประมาณ 1 ใน 4 หลังจากที่ตัวทำละลายระเหยและควบแน่นอยู่ใน soxhlet จนเต็ม เพื่อป้องกันสารสกัดแห้งและไหม้อยู่ในขวดก้นกลม ระยะเวลาการสกัดประมาณ 1-3 วัน หรือสังเกตได้จากสีของสารสกัดใน Soxhlet จางลง จากนั้นการนำสารสกัดที่ได้มากรองด้วยกระดาษกรอง และระเหยตัวทำละลายออกให้หมดด้วย rotary evaporator หรือตั้งบนหม้ออังไอน้ำ แล้วนำสารสกัดหยาบที่ระเหยตัวทำละลายออกไปหมดแล้วไปวิเคราะห์หาปริมาณ pyrethrins ด้วยวิธี HPLC ซึ่งปริมาณสาร pyrethrins จะแตกต่างกันในวัตถุดิบแต่ละชนิด ฤดูที่เก็บเกี่ยว และแหล่งที่ปลูก
อ้างอิง : 1. Abhishek Nagar, Arnab Chatterjee, Laiq Ur Rehman, Ateeque Ahmad, Sudeep Tandon. Comparative extraction and enrichment techniques for pyrethrins from flowers of Chrysanthemum cinerariaefolium. Industrial Crops and Products. 2015;76:955-60.