คำถาม : ต้นกุ่มบก- รบกวนสอบถามว่าใบของต้นกุ่มบกหากนำมาทำยามีวิธีการอย่างไรบ้างคะ สามารถนำน้ำคั้นสดมาผสมน้ำผึ้งดื่มได้หรือไม่คะ ขอบคุณค่ะ
- Date : 31/7/2566 11:16:00
คำตอบ : สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ใบกุ่มบก ช่วยขับลม ทำให้เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร และช่วยขับเหงื่อ ซึ่งมักใช้ในรูปแบบของอาหาร โดยนำส่วนของยอดอ่อนและช่อดอกมาทำเป็นผักดอง หรือใช้เป็นส่วนประกอบในแกงต่าง ๆ หรือนำมาต้มดื่มและรับประทานในรูปแบบของชาชง เนื่องจากใบกุ่มบกมีกรดไฮดรอไซยานิค (hydrocyanic acid) ซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำมาดอง ผ่านความร้อน หรือทำให้สุกเพื่อลดปริมาณสารพิษก่อนรับประทาน และไม่แนะนำให้รับประทานแบบคั้นสดหรือแบบใบดิบค่ะ
สำหรับคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย จากข้อมูลตามที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พบว่ามีการใช้ส่วนเปลือกต้นของกุ่มบกเป็นส่วนประกอบในยาแก้ลมอัมพฤษก์ โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ซึ่งสูตรตำรับยาดังกล่าวจะประกอบด้วยเหง้าไพล เหง้าขมิ้นอ้อย เหง้าข่า หัวกระเทียม รากเจตมูลเพลิงแดง พริกไทยล่อน ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ การบูร ผักเสี้ยนผี (ทั้งต้น) เปลือกต้นทองหลาง เปลือกต้นกุ่มบก เปลือกต้นกุ่มน้ำ และเกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 5 กรัม และจากการสืบค้นงานวิจัยในขณะนี้พบว่าสารสกัดจากส่วนใบมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรีย แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองค่ะ
อ้างอิง :
1. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (1). กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด; 2539.
2. คู่มือประกอบการใช้บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564. [อินเทอร์เน็ต]. กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข; 2565 [เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/herbal_nloehd/nloehd3/nloehd3-01-2206.pdf
3. กุ่มบก. [อินเทอร์เน็ต]. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี; 2553 [เข้าถึงเมื่อ 6 มิ.ย. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=205