คำถาม : ดอกปีบ
  • สวัสดีค่ะเป็นนร.ม.ต้นค่ะ ทำโครงงานเรื่องดอกปีบอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสาร hispidulin ในดอกปีบ ใช้กับคนเป็นหอบหืดได้จริงไหมคะ และสามารถสกัดได้อย่างไร ถ้าสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยแบบกลั่นจะได้สารตัวนี้ไหมและจะทดสอบได้อย่างไร การนำไปใช้มีอันตรายหรือไม่ต้องมีใบอนุญาตในการนำไปใช้กับคนหรือเปล่าถ้ามีหาได้จากที่ไหนคะ บุหรี่ดอกปีบสามารถรักษาริดสีดวงจมูกได้จริงหรือไม่ การเผาไหม้แบบนี้จะได้สารสำคัญตัวใดและจะทดสอบได้อย่างไร สามารถนำบทความของทางสถาบันไปใช้อ้างอิงข้อมูลได้หรือไม่ ขอบพระคุณค่ะ
  • Date : 30/12/2565 16:54:00
คำตอบ : - มีข้อมูลการศึกษาทางคลินิกที่พบว่าการพ่นสารสกัดน้ำจากตำรับยาดอกปีบด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดในอาสาสมัครได้ (1) อย่างไรก็ตามเป็นเพียงตัวอย่างการทดสอบในอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเท่านั้น หากจะนำมาใช้ในทางการแพทย์ควรมีข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมรวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยหรืออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้
- จากข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอาการโรคหอบหืด สารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ขยายหลอดลมโดยทดสอบในหลอดลมของหนูแรทที่แยกออกมา ทำการสกัดต่อด้วย petroleum ether, chloroform, n-butanol และส่วนสกัดน้ำ พบว่า chloroform fraction ให้ผลดีสุด ทำการสกัดแยกสาร hispidulin จาก chloroform fraction ด้วย column chromatography และเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์พบว่าสาร hispidulin มีฤทธิ์ในการขยายหลอดลม (2-3) โดยสาร hispidulin เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ไม่สามารถสกัดด้วยการกลั่นด้วยไอน้ำ ต้องสกัดด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วปานกลาง เช่น คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตต เอทานอล เป็นต้น
- การนำไปใช้ ควรมีข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติม และต้องขอใบอนุญาตกับทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- มีการใช้บุหรี่ดอกปีบตามภูมิปัญญาชาวบ้าน และมีสรรพคุณแผนโบราณระบุว่าแก้ริดสีดวงจมูก แต่ข้อมูลงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสชัวิทยาและทางคลินิกยังไม่ชัดเจน (1)
- การทดลองพบว่าสาร hispidulin ซึ่งระเหยได้ มีฤทธิ์ในการขยายหลอดลม จึงเป็นไปได้ว่าฤทธิ์รักษาหืดโดยการสูบดอกปีบอาจมาจากสาร hispidulin แต่ข้อมูลการทดสอบยังน้อยมาก ไม่มีข้อมูลการทดสอบสารโดยตรงจากการเผาไหม้บุหรี่ดอกปีบ จึงควรมีการทดสอบฤทธิ์เพิ่มเติม (3)
- บทความจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร เป็นบทความที่รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยหลาย ๆ แหล่ง นำมาเรียบเรียงวิเคราะห์เป็นบทความ ซึ่งแต่ละบทความจะมีเอกสารอ้างอิงเหล่านั้น หากจะนำบทความจากสำนักงานสมุนไพรไปประกอบเป็นแหล่งความรู้ สามารถทำได้ แต่การอ้างอิงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาไม่สามารถนำบทความไปอ้างอิงได้โดยตรง ต้องอ้างอิงจากรายการงานวิจัยต้นฉบับค่ะ

ที่มา :
บทความเผยแพร่ความรู้ถึงประชาชน หอมดอกปีบ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/368/%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%9A/
2. Nagaraja MS, Paarakh PM. Millingtonia hortensis Linn. - a review. Pharmacologyonline. 2011;2:597-602.
3. Anulakanapakorn K, Bunyapraphatsara N, Satayavivad J. Phytochemical and pharmacological studies of the flowers of Millingtonia hortensis Linn. F. J Sci Soc. 1987;13:71-83.