คำถาม : กาบมะพร้าวเผา
  • สวัสดีค่ะ ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับกาบมะพร้าวเผาค่ะ รบกวนทางทีมงานตอบหน่อยนะคะ
    1. พอจะทราบสรรพคุณของกาบมะพร้าวเผาสีดำที่ใส่ในขนมเปียกปูนมั้ยคะ
    2. เมื่อเทียบกันผงถ่านชาร์โคล (activated charcoal) เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรคะ
    3. ถ้านำกาบมะพร้าวเผามาใช้ภายนอก เช่น ใช้กับผิวพรรณ จะมีคุณสมบัติลดกลิ่นกาย หรือดูดซับสารพิษบางอย่าง เหมือนผงถ่านมั้ยคะ
    ขอบคุณมากค่ะ

  • Date : 27/12/2562 16:17:00
คำตอบ : 1. กาบมะพร้าวเผาสีดำ ไม่มีข้อมูลสรรพคุณแผนโบราณที่ชัดเจน คนไทยนิยมใช้ใส่ในขนมเปียกปูน โดยเน้นประโยชน์ในเรื่องของการแต่งสี
2. Activated Charcoal หรือ Activated Carbon (ถ่านกัมมันต์) มีหลายชนิด ซึ่งมักเป็นพวกอินทรีย์สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ ส่วนใหญ่มักเป็นพวกเซลลูโลสที่มาจากพืชและต้นไม้ เช่น ไม้ยางพารา ไม้ไผ่ เศษไม้เหลือทิ้ง และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเช่น ขี้เลื่อย แกลบ รวมทั้งกะลามะพร้าว ดังนั้น กาบมะพร้าวอาจใช้เป็นวัสดุในการเตรียมถ่านกัมมันต์ ถ่านกัมมันต์จะมีกระบวนการผลิตที่มีขั้นตอนซับซ้อนกว่า และเป็นสารที่มีคุณภาพกว่า
โดยกระบวนการแอคทิเวต Carbon นั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ ดังนี้
- Chemical Activation เป็นเทคนิคที่ใช้ในการแอคทิเวตวัตถุดิบประเภทไม้และถ่านพีตวัตถุดิบจำพวกนี้จะถูกทำให้อิ่มตัวด้วยสาร Dehydrating Agent ชนิดเข้มข้นจำพวกกรดฟอสเฟอริค หรือ ซิงค์ คลอไรด์ แล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 500-800°C
- Stream Activation เป็นเทคนิคที่ใช้ในการแอคทิเวตวัตถุดิบประเภทกะลามะพร้าวและถ่านหินในสภาวะที่เต็มไปด้วยไอน้ำที่อุณหภูมิ 800-1100°C
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ Activated Charcoal
ใช้ประโยชน์จากลักษณะที่เป็นผงๆ มีพื้นที่ผิวมากในการดูดซับสารพิษหรือยา ยาที่แตกตัวเป็นประจุ หรือสารโมเลกุลเล็ก เช่น alcohol จะถูกดูดซับได้ไม่ดี การให้ผงถ่านซ้ำๆ กันหลายครั้ง จะเพิ่มการขับถ่ายยาที่มี enterohepatic recirculation เช่น digitoxin หรือยาที่มีการซึมกลับสู่ทางเดินอาหารใหม่ เช่น phenobarbital หรือ theophylline
3. ไม่มีข้อมูลงานวิจัยของการนำกาบมะพร้าวเผามาใช้ภายนอก เช่น ใช้กับผิวพรรณ แต่ Activated Carbon มีคุณสมบัติในการเป็นตัวดูดซับที่ดี มีความสามารถในการกำจัดแก๊ส สารเคมี ควัน รวมไปถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ ในอากาศ จึงมีการนำมาใช้ในระบบกรองอากาศ สำหรับการนำมาใช้ในทางเครื่องสำอาง อาจต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบอาการไม่พึงประสงค์ต่อผิวหนัง เพื่อความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ที่มา :
- https://www.pobpad.com/activated-charcoal
- http://www.vali-tech.net/home/article-read.php?ArticleId=14
- https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/anti-cov/charcoal