คำถาม : กล้วยดิบกับขมิ้นชัน
  • การผสมกันระหว่างผงกล้วยดิบกับขมิ้นชัน ในการรักษาโรคกระเพาะ อยู่ในอัตราส่วนที่เท่าไรครับ ปริมาณต่อวันที่ควรกินต่อวันคือเท่าไร กินโดยการละลายน้ำธรรมดา หรือปรุงรส เช่นใส่น้ำผึ้ง หรืออื่นๆได้ไหม
  • Date : 31/10/2562 16:39:00
คำตอบ : ข้อมูลจากบัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการสมุนไพรทั้งสองชนิด ดังนี้
1. ยากล้วย เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ใช้ผงกล้วยน้ำว้าชนิดแก่จัด รับประทานครั้งละ 10 กรัม ชงน้ำร้อน 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ข้อควรระวัง:
– ไม่ควรใช้กับผู้ที่ท้องผูก
– การรับประทานติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ท้องอืดได้
อาการไม่พึงประสงค์: ท้องอืด
2. ยาขมิ้นชัน เพื่อบรรเทาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ผงเหง้าขมิ้นชัน ที่มีสารสำคัญ curcuminoids ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก (w/w) และน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก (v/w) รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม (แคปซูลหรือยาเม็ด) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในผู้ที่ท่อน้ำดีอุดตัน หรือผู้ที่ไวต่อยานี้
ข้อควรระวัง:
– ควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
– ควรระวังการใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
– ควรระวังการใช้กับเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย
– ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
– ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP 450) เนื่องจากสาร curcumin ยับยั้ง CYP 3A4, CYP 1A2 แต่กระตุ้นเอนไซม์ CYP 2A6
– ควรระวังการใช้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin เนื่องจาก curcumin อาจมีผลต้านฤทธิ์ยาดังกล่าว
อาการไม่พึงประสงค์: ผิวหนังอักเสบจากการแพ้
จากคำแนะนำการใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติจะเห็นได้ว่าสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันและมีวิธีการรับประทานที่ต่างกัน ดังนั้นควรแยกรับประทานแต่ละชนิด ไม่ควรนำกล้วยและขมิ้นชันมาชงรวมกันค่ะ และสามารถเติมน้ำผึ้งปรุงรสเพื่อให้รับประทานง่าย อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการเสริมความหวานในผู้ที่มีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดค่ะ