คำถาม : กฤษณา
  • ผมอยากทราบข้อมูลต้นกฤษณาครับว่ามีงานวิจัย ในไทยด้านไหนบ้าง เช่น ใบนำมาต้มเป็นชา ต้นมาทำอะไรได้บ้าง ในไทยมีกี่สายพันธุ์ และได้รับรองเป็นยาแล้วรึยัง
  • Date : 23/8/2562 16:40:00
คำตอบ : กฤษณา เป็นน้ำมันหรือยางที่สร้างขึ้นในเนื้อไม้ของพืชในสกุล Aquilaria ซึ่งมีหลายชนิด ที่สำคัญและพบในไทย มี 2 ชนิด ได้แก่ Aquilaria malaccensis Lam. (ชื่อพ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) และ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte ประโยชน์ของกฤษณา ชาวอาหรับนิยมนำมาเผาไฟเพื่ออบห้องให้มีกลิ่นหอม น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากเนื้อไม้ จะนำมาใช้เป็นน้ำหอม ใช้ปรุงแต่งกลิ่นหอมในอุตสาหกรรมน้ำหอม เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ผงกฤษณาใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือร่างกายเพื่อฆ่าเหาและหมัด ในยาพื้น บ้านของอินเดียและหลายประเทศในเอเซีย ใช้เป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และยาขับลม
สรรพคุณแผนโบราณของกฤษณาจากต้น Aquilaria agallocha ใช้เนื้อไม้ บำรุงโลหิตในหัวใจ บำรุงตับและปอด แก้ลมซาง ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ไข้ บำรุงโลหิต แก่นไม้ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอด น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง
สำหรับข้อมูลรายงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า กฤษณา (Aquilaria crassna) มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ ต้านความเป็นพิษต่อหัวใจ ช่วยระบาย เป็นต้น ส่วนกฤษณา (Aquilaria agallocha) มีฤทธิ์แก้ปวด ลดการอักเสบ ต้านการชัก ทำให้สงบ ช่วยระบาย ฆ่าแมลง เป็นต้น มีงานวิจัยว่าสารสกัดน้ำของกฤษณา สามารถลดความดันในแมวได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยเกี่ยวกับกฤษณายังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง และยังไม่มีงานวิจัยในคน จึงควรใช้ความระมัดระวังในการรับประทาน หากอยากได้รายละเอียดของงานวิจัย สามารถสืบค้นได้ที่สำนักงานโดยตรง ซึ่งจะมีค่าบริการค่ะ
ส่วนการรับรองเป็นยานั้น ยังไม่มีการรับรองการใช้กฤษณาเป็นยาในสมุนไพรเดี่ยว แต่มีการรับรองว่ากฤษณาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีสมุนไพรชนิดอื่นๆร่วมอยู่ด้วยในตำรับ ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาของไทย

เอกสารอ้างอิง :
ฐาน PHARM
หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้านเล่ม 1
หนังสือคู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 2 เครื่องยาพฤกษวัตถุ
บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549