คำถาม : การสกัดสมุนไพรด้วยตัวทำละลายน้ำตาลอ้อย
  • การสกัดสมุนไพรด้วยตัวทำละลายน้ำตาลอ้อย หรือน้ำอ้อยสามารถทำได้มั้ยคะ เคยมีประวัติมั้ยคะ และข้อดีข้อเสียของการสกัดสมุนไพรด้วยน้ำตาลอ้อยมีอะไรบ้างคะ และเพิ่มเติมด้วยน้ำผึ้งเป็นสารทำละลายในการสกัดด้วย เคยมีประวัติตำรับยาใช้การสกัดแบบนี้มั้ยคะ และกระบวนการสกัดสมุนไพรด้วยสารละลายทั้งน้ำอ้อยหรือน้ำตาลอ้อยและน้ำผึ้งมีกระบวนการย่อยและดูดซึมสารสกัดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไรคะ เปรียบเทียบกับการสกัดด้วยวิธีอื่นๆในท้องตลาดที่มีทั้งใช้เทคโนโลยีและใช้สารทำละลายอื่น ๆ เช่น แอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • Date : 28/6/2562 16:22:00
คำตอบ : ถ้าเป็นน้ำเชื่อม จะจัดเป็นตัวทำละลายชนิดมีขั้วเช่นเดียวกับน้ำ สามารถใช้เป็นตัวทำละลายสารต่างๆ เช่น สารฟลาโวนอยด์และแอนโทไซยานินจากดอกกุหลาบ อัญชัน และกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น แต่ไม่มีข้อมูลการใช้ทางการแพทย์แผนไทย และข้อมูลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการใช้น้ำตาลอ้อยหรือน้ำอ้อยเป็นตัวทำละลายในการสกัดสารเปรียบเทียบกับตัวทำละลายอื่นๆ
สำหรับน้ำผึ้ง จัดเป็นสารละลายที่อิ่มตัว ประกอบไปด้วยกลูโคสและฟรุกโตส และมักมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้ ตามภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยมีการใช้น้ำผึ้งสำหรับดองยา หรือใช้เป็นน้ำกระสายยาสำหรับปั้นยาลูกกลอน แต่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้น้ำผึ้งมาเป็นตัวทำละลายในการสกัดสมุนไพรว่าสามารถสกัดสารได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวทำละลายชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ตัวทำละลายในการสกัดสมุนไพรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการสกัดสารสำคัญใดจากพืชสมุนไพรนั้น และสารสำคัญนั้นมีคุณสมบัติอย่างไรค่ะ เช่น สารมีขั้ว (สารละลายน้ำ เช่น กรดอินทรีย์ในมะขาม ) สารกึ่งมีขั้ว (สารละลายแอลกอฮอล์ เช่น สารแทนนินจากเปลือกมังคุด) และสารไม่มีขั้ว (ไม่ละลายน้ำ) เช่น น้ำมันหอมระเหย ต้องสกัดด้วยเฮกเซน หรือการกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นต้น
สำหรับกระบวนการย่อยและการดูดซึมสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายนั้น สารแต่ละชนิดจะถูกย่อยจนเป็นโมเลกุลเล็กแตกต่างกัน ทั้งน้ำอ้อยหรือน้ำตาลอ้อยและน้ำผึ้งไม่ได้เป็นตัวนำพาสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตรง น้ำอ้อยหรือน้ำตาลอ้อยและน้ำผึ้ง มีองค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรต การดูดซึมของคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในรูปมอโนแซ็กคาไรด์จะถูกดูดซึมผ่านเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดได้
กลไกการดูดซึมมอโนแซ็กคาไรด์ผ่านเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ
1. การดูดซึมแบบแพร่กระจายผ่านเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็ก เป็นการดูดซึมโดยอาศัยความเข้มข้นที่แตกต่างกันระหว่างน้ำตาลในลำไส้เล็กและน้ำตาลภายในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็ก น้ำตาลเกือบทุกชนิดสามารถถูกดูดซึมได้ด้วยวิธีนี้ ยกเว้นน้ำตาลกลูโคสและกาแล็กโทส
2. การดูดซึมแบบต้องอาศัยพลังงาน (active transport หรือ specific absorption) เป็นการดูดซึมน้ำตาลที่ต้องอาศัยพลังงาน เกิดปฏิกิริยาฟอสฟอริเลชันของน้ำตาลภายในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็ก การดูดซึมแบบนี้ ต้องอาศัยพลังงาน และยังต้องอาศัยโปรตีนตัวพา (specific transport protein) และโซเดียมไอออนด้วย การดูดซึมแบบนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำตาลในลำไส้เล็ก น้ำตาลกลูโคสและ กาแล็กโทสจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดด้วยวิธีนี้
น้ำตาลแต่ละชนิดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในอัตราเร็วที่แตกต่างกัน ถ้าให้อัตราเร็วของการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเป็น 100 อัตราเร็วของการดูดซึมน้ำตาลกาแล็กโทสจะมีค่าเป็น 110 ฟรักโทสมีค่าเป็น 46 ซอร์โบสเป็น 30 แมนโนสเป็น 19 ไซโลสเป็น 15 และอะราบิโนสเป็น 9


ที่มา :
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร, วิเชียร จีรวงส์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อัมรินทร์; 2545.
- http://pws.npru.ac.th/sartthong/data/files/275795_ch1.pdf
- http://www.elfit.ssru.ac.th/kittisak_ja/pluginfile.php/98/block_html/content/4-การสกัดแยกและพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารสำคัญจากสมุนไพร-kitthisak.pdf
- http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/7144/การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต