คำถาม : การสกัดสมุนไพร
  • ถ้าต้องการผลิตครีมนวดบรรเทาอากาปวดจาก เถาเอ็นอ่อน โคคลาน แก่นฝาง เถาสะค้าน โด่ไม่รู้ล้ม ทองพันชั่ง เถาวัลย์เปรียง ควรใช้สารละลายอะไรสกัดบ้าง สัดส่วนเป็นอย่างไรคะ และวิธีการสกัดเป็นอย่างไรคะ
  • Date : 29/1/2562 17:32:00
คำตอบ : ทางสำนักงานฯ ไม่มีสูตรการผลิตครีมดังกล่าวค่ะ ซึ่งการตั้งสูตรและพัฒนาตำรับยังมีรายละเอียดที่คุณต้องศึกษาอีกมาก โดยอาจลองศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากหนังสือ คู่มือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเศรษฐกิจชุมชนในการผลิต และ บัญชียาหลักแห่งชาติ 2561 ก่อนค่ะ ตัวอย่างวิธีการสกัดสมุนไพร อย่างง่ายๆ เช่น
การต้ม
- ชั่งสมุนไพร ย่อยให้ขนาดเล็กพอประมาณ
- เติมน้ำ 3-5 เท่าของน้ำหนัก ถ้าเป็นสมุนไพรสดจะใช้น้ำน้อยกว่า โดยให้น้ำท่วมสูงเกินสมุนไพประมาณ 5 นิ้ว จดน้ำหนักที่ใช้ ถ้าเป็นสมุนไพรแห้งให้แช่ในน้ำ 20 นาที ก่อนนำขึ้นตั้งไฟปานกลางจนเดือด จับเวลาเมื่อเริ่มเดือด ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที หากน้ำแห้งให้เติมน้ำ เมื่อสีน้ำสกัดไม่เข้มจากเดิม ให้ยกลง กรองด้วยผ้าขาวบาง 3 ชั้น
- นำกากมาต้มซ้ำ เช่นเดิม
- รวมน้ำสกัด 2 ครั้งเข้าด้วยกัน
- ตั้งไฟเคี่ยวต่อจนได้น้ำหนักที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะนิยมให้น้ำหนักน้ำสกัดเท่ากับน้ำหนักสมุนไพรที่นำมาสกัด เช่น สมุนไพร 1 กก. เมื่อสกัดเสร็จแล้ว ได้น้ำสกัด 1 กก. ซึ่งง่ายต่อการคำนวณสัดส่วน ข้อเสีย กรณีที่จะเตรียมเก็บนานๆ อาจมีเชื้อแบคทีเรีย หรือรา ทำให้บูดเน่าเสียได้ง่าย สามารถแก้ไขได้ 2 วิธี คือ เติมสารกันเสีย หรือเคี่ยวให้เข้มข้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เคี่ยวจนเหลือน้ำหนัก 1 ใน 5 แต่ต้องระวังไม่ให้ไหม้ และจดน้ำหนักสุดท้ายที่ได้ หลังจากนั้นให้สรุปการสกัด และเก็บข้อมูลไว้เป็นเทคนิคในการสกัดครั้งต่อไป

การคั้นน้ำสด
- สารสกัดที่ได้ อาจเรียกว่า น้ำสกัดหรือน้ำคั้น ในที่นี้ เรียกว่าน้ำคั้น ต้องใช้สมุนไพรสด บีบเอาแต่น้ำ เหมาะสำหรับสมุนไพรที่ทนความร้อนไม่ได้
วิธีเตรียม แยกเป็น 2 วิธี เลือกใช้ตามความเหมาะสม
- วิธีที่ 1 น้ำคั้นผลไม้ เช่น น้ำคั้นผลส้ม น้ำคั้นผลมะเฟือง
วิธีทำ ล้างทำความสะอาดผิวด้านนอกของผลไม้ ผ่าซีก บีบด้วยเครื่อง
- วิธีที่ 2 น้ำคั้นใบหรือเหง้า เช่น น้ำขมิ้น
เครื่องมือ เครื่องปั่นผลไม้
วิธีทำ ปั่นสมุนไพรสดกับน้ำ จำนวนครึ่งเท่าของน้ำหนักสมุนไพรในเครื่องปั่นน้ำผลไม้ กรองด้วยผ้าขาวบาง
ข้อเสีย การสกัดแบบนี้ สารสกัดสมุนไพรไม่ค่อยคงตัว มักต้องใช้สารกันบูด ควรเตรียมแล้วใช้ทันที หรือแช่เย็นไว้ 1 วัน ก่อนนำไปใช้

การเคี่ยวด้วยน้ำมัน
น้ำมันที่ใช้ควรเป็นน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว สัดส่วนสมุนไพรที่ใช้ ให้ใช้สมุนไพรสด หรือแห้ง 1-2 เท่าของน้ำมันพืช
วิธีทำ
- ชั่งน้ำหนักสมุนไพร
- ชั่งน้ำหนักน้ำมันพืช ยกขึ้นตั้งไฟปานกลาง
- เมื่อน้ำมันพืชร้อน ประมาณ 100-150 องศาเซลเซียส ใส่สมุนไพรลงไปทีละน้อย ทอดจนกรอบ ตักกากสมุนไพรทิ้ง เติมลงไปทีละน้อย ทำซ้ำ จนหมด
- กรองน้ำมันพืชด้วยผ้าขาวบาง 3 ชั้น นำน้ำมันไปใช้

การสกัดด้วยแอลกอฮอล์
การหมัก (Maceration)
- ชั่งสมุนไพร ใส่ในถุงผ้า
- แช่แอลกอฮอล์ 2-3 เท่าตัวในภาชนะปิดสนิททิ้งไว้ 7 วัน คนทุกวัน
- กรองเอาส่วนน้ำ บีบสารละลายออกจากกาก
- แล้วเติมสารละลาย เพื่อล้างกาก ทำซ้ำอีกครั้ง เป็นการหมักซ้ำ เพื่อให้ได้สารสกัดมากที่สุด
- เอาสารสกัด 2 ครั้งรวมกัน ระเหยแอลกอฮอล์ออกด้วยเครื่องระเหยสุญญากาศหรือตั้งบนหม้ออังไอน้ำ ก่อนนำไปใช้งานหรือผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง
อย่างไรก็ตาม การสกัดสมุนไพรแต่ละชนิดอาจต้องใช้ตัวทำละลายและวิธีการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการสกัดสารสำคัญใดจากพืชสมุนไพรนั้น และสารสำคัญนั้นมีคุณสมบัติอย่างไรค่ะ เช่น สารมีขั้ว (สารละลายน้ำ เช่น กรดอินทรีย์ในมะขาม ) สารกึ่งมีขั้ว (สารละลายแอลกอฮอล์ เช่น สารแทนนินจากเปลือกมังคุด) และสารไม่มีขั้ว (ไม่ละลายน้ำ) เช่น น้ำมันหอมระเหย ต้องสกัดด้วยเฮกเซน หรือการกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นต้น สำหรับเอกสารอ้างอิงของการสกัดสารสำคัญต่างๆ จากสมุนไพรแต่ละชนิด สามารถค้นหาได้ในหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับเทคนิคการสกัดสารต่างๆ หรืองานวิจัยจากฐานข้อมูลต่างๆ เช่น pubmed, scifinder, scidirect เป็นต้น หรือค้นหาเพิ่มเติมด้วยตัวเองได้ที่ สนง.ข้อมูลสมุนไพร ค่ะ

เอกสารอ้างอิง :
หนังสือคู่มือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเศรษฐกิจชุมชน
http://www.teacher.ssru.ac.th/kittisak_ja/pluginfile.php/98/block_html/content/4-การสกัดแยกพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารสำคัญจากสมุนไพร-kitthisak.pdf
http://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/New/nlem2561.PDF