คำถาม : สกัดแทนนินในเปลือกเมล็ดมะขาม
  • เราจะสามารถสกัดแทนนินในเปลือกเมล็ดมะขามได้อย่างไร
    และช่วยบอกวิธีสกัดได้ไหมค่ะ

  • Date : 19/10/2561 16:16:00
คำตอบ : จากงานวิจัยพบว่าการสกัดแทนนินจากเปลือกเมล็ดมะขาม tamarind (Tamarindus indica L.) seed husk โดยสกัดด้วยตัวทำละลายหลายชนิด เช่น น้ำร้อน น้ำ เมทานอล และอะซีโตน พบว่าตัวทำละลายเมทานอลสกัดแทนนินได้มากกว่าตัวทำละลายอื่นๆ ที่ใช้ทดสอบ นอกจากนี้มีรายงานวิจัยพบว่าเปลือกเมล็ดมะขาม มีสารแทนนิน (polymeric tannins) อยู่ 39% และสามารถเตรียมสารสกัดที่มีปริมาณแทนนินสูงได้โดยสกัดดัวยตัวทำละลาย ethanol/water (3:2, v/v) และนำสารสกัดหยาบที่ได้ไปแยกต่อโดยใช้ Sephadex LH20 โดยใช้ methanol/water (3:2, v/v) และ acetone/water (3:2, v/v) เป็นวัฏภาคเคลื่อนที่ซึ่งจะได้สารสกัดที่มีแทนนินสูงถึง 94%

โดยทั่วไปการสกัดสารกลุ่มแทนนิน มักใช้วิธีการสกัดด้วยการหมักในตัวทำละลายเช่น อัลกอฮอล์ หรือต้มในน้ำร้อน จากนั้นกรองเอาเฉพาะส่วนสารละลายหรือส่วนน้ำมาทำการตกตะกอนแทนนินโดยวิธี salting out คือทำให้ตกกะกอนด้วยการเติมโซเดียมคลอไรด์ แล้วนำตะกอนที่ได้ไปสกัดซ้ำด้วยอะซีโตน และนำไปกำจัดไขมันออกโดยใช้อีเธอร์สกัดแยกไขมันทิ้งไป จากนั้นนำส่วนสารที่สกัดได้มาเติมโซเดียมคลอไรด์อีกครั้ง เพื่อให้แทนนินตกตะกอนออกมาค่ะ
หรืออาจใช้วิธีสกัดแบบง่ายตามคำแนะนำในหนังสือการสกัดและตรวจสอบสารสำคัญจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คือ
1. ชั่งตัวอย่างพืช 5 กรัม เติม 50% เอทานอล จำนวน 50 มล. ต้มบนอ่างอังไอน้ำด้วยวิธี reflux (การสกัดแบบไหลย้อนกลับ) นาน 30 นาที
2. กรองเก็บสารละลายที่ได้ (filtrate)
3. ระเหย filtrate ให้เกือบแห้งบนอ่างอังไอน้ำ
4. ละลายสารสกัดด้วยน้ำกลั่น 50 มล. โดยใช้ความร้อนช่วย จากนั้นกรองผ่านกรวยบุชเนอร์ (buchner funnel) โดยใช้แรงดูดจากสุญกาศ (suction) และใช้สารช่วยกรอง (filter aid)
5. เติม 10% sodium chloride 1 มล. กรองเก็บ filtrate ไว้ทดสอบ

แต่หากต้องการวิธีการสกัดเปลือกเมล็ดมะขามโดยละเอียด คงต้องสืบค้นข้อมูลงานจากวิจัยฉบับเต็มที่ตีพิมพ์ลงวารสารต่างๆ

Ref :
1. Jesudoss RPR, Vasanthi N, Gayathri P. Extraction and antifungal activity of tannin from tamarind husk. Int J Pharm Bio Sci 2014;5(2):475-83)
2. Sinchaiyakit P , Ezure Y , Sriprang S , Pongbangpho S , Povichit N , Suttajit M. Tannins of tamarind seed husk: preparation, structural characterization, and antioxidant activities. Natural product communications 2011;6(6):829-34