คำถาม : ดีปลีและแก่นตะวัน
  • อยากทราบข้อมูลดีปลีและแก่นตะวันค่ะ
  • Date : 27/9/2561 15:14:00
คำตอบ : ดีปลี Piper chaba Hunter เป็นไม้เถาไม่มีขน เมื่อแห้งเป็นลายละเอียด ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีเรียงขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยวเนื้อค่อนข้างมาก ใบมัน มีเส้นใบแบบขนนก 3 - 5 เส้น ดอกออกตรงข้ามใบ เป็นดอกช่อชนิดดอกย่อยไม่มีก้าน ช่อดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่คนละต้น ผลอัดกันแน่นเป็นช่อ สรรพคุณแผนโบราณใช้ราก บำรุงธาตุ ขับลม แก้อัมพาต เถา บำรุงเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ใบ แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็น ผล เป็นยาขับระดู เป็นยาธาตุ แก้ท้องร่วง เจริญอาหารเป็นต้น การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ช่วยเสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบ ลดการบีบตัวของลำไส้ เป็นต้น

แก่นตะวัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus tuberosus L. ชือภาษาอังกฤษคือ Jerusalem artichoke นิยมนำส่วนหัวมารับประทาน
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า แก่นตะวันมีฤทธิ์ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ เนื่องจากส่วนหัวของแก่นตะวันมีสาร อินนูลิน (inulin) และฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรค์ (fructooligosaccharides) เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีเส้นใยที่ให้แคลอรี่ต่ำ และในระบบทางเดินอาหารของคนเราไม่มีเอนไซม์ใช้ย่อยได้ ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปจะไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็ก ทำให้ไม่มีการดูดซึมหรือเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด จึงไม่เป็นปัญหาต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม สารอาหารดังกล่าวสามารถเกิดการหมักได้โดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งการเกิดกระบวนการหมักนี้จะทำให้เกิดแก๊สในบริเวณลำไส้ใหญ่ หากรับประทานแก่นตะวันมากเกินไปจะทำให้เกิดการผายลมเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้บางคนมีอาการถ่ายมากกว่าปกติ หรือเกิดอาการไม่สบายท้อง จุกเสียดแน่นท้องได้ ทั้งนี้อาการต่างๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับความไวของร่างกายของแต่ละคน
ข้อมูลจาก European Food Safety Authority ระบุว่าขนาดที่แนะนำให้รับประทานแก่นตะวันเพื่อเพิ่มปริมาณพรีไบโอติคในลำไส้ คือ รับประทานสารสกัด 135 มก./วัน หรือเทียบเท่าหัวสด 297-594 มก. ในขณะนี้ยังไม่พบรายงานความเป็นพิษ และรายงานการศึกษาในคนยังมีน้อย จึงไม่สามารถระบุได้ว่าหากรับประทานติดต่อกันนานๆ จะก่อให้เกิดการตกค้างหรือเกิดพิษหรือไม่