คำถาม : แม่เป็นเบาหวานและไขมันสูง- แม่เป็นเบาหวานและไขมันสูงจะทำไงดีคะ แม่ไม่ชอบทานยาโรงพยาบาล มียาสมุนไพรตัวใดที่ลดไขมันและเบาหวานบ้างคะ
- Date : 20/9/2561 16:21:00
คำตอบ : สมุนไพรรักษาเบาหวานมีการวิจัยดังนี้ค่ะ
พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมีหลายชนิดเช่น ฟ้าทะลายโจร กระเทียม หอม ฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งรายงานการวิจัยส่วนใหญ่ทำในสัตว์ทดลอง ส่วนรายงานการวิจัยทางคลินิกที่แสดงผลดังกล่าว เช่น
1) ว่านหางจระเข้ ทำการทดลองโดยให้น้ำว่านหางจระเข้ความเข้มข้น 80% ขนาด 1 ข้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน ร่วมกับยาแผนปัจจุบันglibenclamide 5 มก. จำนวน 2 เม็ด เป็นเวลา 42 วัน พบว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีกว่าการใช้ glibenclamide 5 มก. จำนวน 2 เม็ด เพียงอย่างเดียว
2) มะระขี้นก มีรายงานว่าการใช้ผลสดขนาด 50 กรัม/วัน มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ห้ามรับประทานผลสุก (สีส้มแดง) เพราะมีพิษและทำให้คลื่นไส้อาเจียน และการให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทานผงแห้งผลมะระขี้นกขนาด 5 ก. แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 21 วัน พบว่าสามารถระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 25%
3) กระเทียม มีรายงานว่าว่าผู้ป่วยเบาหวานรับประทานกระเทียมผงขนาด 800 มก./วัน นาน 4 สัปดาห์ มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
4) ปัญจขันธ์ มีรายงานว่า เมื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทานชาชงใบปัญจขันธ์ ขนาด 6 ก./วัน (วันละ 2 ครั้งๆ ละ 3 ก.) ก่อนอาหารเช้าและเย็น 30 นาที เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
5) หม่อน มีรายงานว่าการรับประทานผงใบหม่อน ขนาด 1.8 ก. วันละ 3 ครั้ง ร่วมกับน้ำ เป็นเวลา 3 เดือนพบว่าผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลและค่าระดับน้ำตาลสะสมลดลง ขณะที่ในคนปกติจะไม่มีผล
ส่วนสมุนไพรลดไขมันในเลือด
สมุนไพรที่สามารถลดปริมาณคลอเรสเตรอลในเลือดได้มีหลายชนิดครับที่นิยมรับประทานและมีการศึกษาวิจัยแล้วก็คือ
กระเทียม กระเทียมสามารถลดคลอเรสเตอรอลได้ประมาณ 12% และลดไตรกลีเซอไรด์ได้ประมาณ 13%(โดยใช้กระเทียมผงแห้งวันละ 600-900 มก นาน 12 สัปดาห์) ขนาดที่ใช้ กระเทียมสด 2-5 กรัม/วัน ผงกระเทียม 0.4-1.2 กรัม/วัน น้ำมันกระเทียม 2-5 มก./วัน สารสกัด 300-1000 มก./วัน ควรรับประทานพร้อมอาหารเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจได้กลิ่นกระเทียมจากผิว และลมหายใจ ไม่ค่อยพบผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร และอาการแพ้ ในรายที่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานควรหยุดรับประทานก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเลือดแข็งตัวช้า ข้อห้ามและข้อควรระวัง: -ในรายที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจมีการเสริมฤทธิ์ทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง อาการผื่นแพ้ทางผิวหนัง หืดหากสูดดมผงกระเทียม คนที่แพ้กระเทียมอาจแพ้หัวหอม ผลข้างเคียงการรับประทานกระเทียมหรือสารสกัด ขณะท้องว่างอาจจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียด ท้องร่วง ลมหายใจและเหงื่อมีกลิ่นกระเทียม ผลิตภัณฑ์จากกระเทียมมีขายสำเร็จรูปครับทั้งบรรจุแคบซูล นอกจากนี้พืชผักใบเขียวที่มีสารกลุ่มไพโตสเตียรอล เช่น จมูกข้าว ฝักมะรุม ก็สามารถลดคลอเรสเตอรอลได้ควรรับประทานวันละ 500 กรัม และผักผลไม้ที่มีเส้นใยสูงก็สามารถลดได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กันไปเพราะคุณแม่อายุมาก และโรคเบาหวานและไขมันในเลืดไม่ควรรักษาด้วยตนเอง