คำถาม : เปลือกถั่วอินคา
  • เปลือกถั่วอินคา
  • Date : 23/10/2560 15:18:00
คำตอบ : ถั่วดาวอินคา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plukenetia volubilis เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เมล็ดถั่วดาวอินคาเป็นแหล่งของโปรตีน (ประมาณ 27%) และน้ำมัน (35-60%) โดยมีกรดไขมันชนิด omega-3 เช่น linolenic acid ประมาณ 45-53% (12.8–16.0 g/100 g seed) , omega-6 เช่น linoleic acid ประมาณ 34-39% (12.4–14.1 g/100 g seed) และ omega-9 ประมาณ 6-10% ของไขมันทั้งหมด อัตราส่วนของ omega-6 /omega-3 อยู่ในช่วง 0.83–1.09 นอกจากนี้มี phytosterols ได้แก่ beta-sitosterol และ stigmasterol สารที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันเช่น วิตามินอี ในรูป tocopherols สารกลุ่มฟีโนลิก และแคโรทีนอยด์

สารสำคัญที่พบในเมล็ดถั่วดาวอินคา เช่นกรดไขมันโดยเฉพาะ omega-3 และ phytosterols นั้นมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้สารต้านออกซิเดชัน เช่น tocopherols สารกลุ่มฟีโนลิก และแคโรทีนอยด์ สามารถต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการออกซิเดชันของไขมัน ดังนั้นถั่วดาวอินคา และน้ำมันจากถั่วดาวอินคาน่าจะเป็นประโยชน์ในลดไขมันในเลือด และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร 30 คนให้รับประทานน้ำมันถั่ว ดาวอินคา หรือน้ำมันเมล็ดทานตะวัน 10-15มล. ต่อวัน เป็นเวลาสี่เดือน พบว่าทั้งกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วดาวอินคา และเมล็ดทานตะวัน มีระดับคอเลสเตอรอลรวม และ คอเลสเตอรอลชนิด LDL ลดลง และ กลุ่มที่รับน้ำมันถั่วดาวอินคามีระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL ในเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงค่าทางชีวเคมีในเลือดที่ใช้ตรวจสอบความผิดปกติของตับและไต โดยผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือการคลื่นไส้อาเจียน

แหล่งข้อมูล :
1. Chirinos R, Zuloeta G, Pedreschi R, Mignolet E, Larondelle Y, Campos D. Sacha inchi (Plukenetia volubilis): a seed source of polyunsaturated fatty acids, tocopherols, phytosterols, phenolic compounds and antioxidant capacity. Food Chem. 2013;141(3):1732-9.
2. Gonzales GF , Gonzales C. A randomized, double-blind placebo-controlled study on acceptability, safety and efficacy of oral administration of sacha inchi oil (Plukenetia volubilis L.) in adult human subjects. Food Chem Toxicol. 2014;65:168-76.