คำถาม : วิธีทำสมุนไพรกำจัดเหาในคนและเห็บหมัดในสัตว์เลี้ยง
  • ขอทราบวิธีทำสมุนไพรกำจัดเหาในคนและสมุนไพรกำจัดเห็บหมัดในสัตว์เลี้ยงด้วยค่ะ
  • Date : 20/10/2560 14:59:00
คำตอบ : สมุนไพรกำจัดเหา ตามหนังสือบัญชียาหลักแห่งชาติ แนะนำว่า
การใช้น้อยหน่ารักษาเหาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. นำใบน้อยหน่า 3-4 ใบ ตำให้ละเอียดคลุกกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาแต่น้ำมาทาให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมไว้ 10 นาที แล้วใช้หวีสางออก
2. บดเมล็ดน้อยหน่ากับน้ำมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 กรองเอาน้ำไปทาให้ทั่วศีรษะ ใช้ผ้าโพกไว้ 1-2 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง
การใช้ควรระวังไม่ให้น้ำยาเข้าตา เพราะจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ หากเข้ามากอาจทำให้ตาบอดได้ และหากต้องการสกัดด้วยเอทานอลหรือเอธิลแอลกอฮอล์แล้วนำไปใช้โดยตรง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้นควรใช้เอทานอลไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในคำแนะนำสกัดด้วยเหล้าขาวซึ่งมีเอทานอลประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้เอทานอลเปอร์เซ็นต์สูงเกินไปอาจจะเป็นอันตรายต่อหนังศีรษะและตา
สมุนไพรกำจัดเห็บ
อ้างอิงจากผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้ภายนอกในทางสัตวแพทย์” โดย รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ และคณะฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิธีสกัดแบบง่ายที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงสุนัขสามารถทำได้เอง สามารถกำจัดเห็บสุนัข หมัด เหา รวมถึงเห็บโคได้ด้วย โดยมีชนิดและขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. เมล็ดน้อยหน่า บดเมล็ดน้อยหน่าให้เป็นผง แช่ด้วยน้ำที่มีแอลกอฮอล์ 1 ใน 10 ส่วน (10%แอลกอฮอล์) โดยใส่แค่พอท่วมผงเมล็ดน้อยหน่า แช่ทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นจึงค่อยกรองคั้นเก็บส่วนน้ำ แล้วใช้ 10% แอลกอฮอล์หรือน้ำ เทล้างผงเมล็ดน้อยหน่า อีก 2 ครั้ง ด้วยปริมาตรเท่าเดิม จากนั้นกรองคั้นส่วนน้ำมารวมกันเป็นสูตรเข้มข้น ใช้ฉีดพ่นฆ่าเห็บบนตัวสัตว์ได้ทั้งเห็บตัวอ่อนและเห็บตัวแก่ พ่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

2. เมล็ดมันแกว บดเมล็ดมันแกวให้เป็นผง เติมน้ำ 2 เท่า ของน้ำหนักผงเมล็ดมันแกว ต้มนาน 20 นาที ขณะต้มคอยเติมน้ำให้เท่าเดิม อย่าให้น้ำแห้ง กรองส่วนน้ำมาเก็บไว้ในตู้เย็น 7-20 วัน แล้วจึงนำมาผสมน้ำ 5 เท่า ฉีดพ่นบนตัวสุนัข ป้องกันเห็บตัวแก่ไม่ให้ออกไข่ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

3. น้ำมันตะไคร้ แกง โดยการกลั่นใบตะไคร้แกงด้วยไอน้ำด้วยชุดกลั่นสำหรับเกษตรกร ใบตะไคร้แกงสด 10 กิโลกรัม กลั่นน้ำมันได้ 40 ซีซี ผสมด้วยแอลกอฮอล์ (95%) 16 เท่า ใช้ฉีดฆ่าเห็บตัวอ่อนบนตัวโคและสุนัข ถ้าต้องการพ่นฆ่าเห็บตัวแก่ไม่ให้ออกไข่ด้วย ให้ผสมน้ำมันตะไคร้แกงด้วยแอลกอฮอล์ได้เพียง 4 เท่า ฉีดพ่นบนตัวโคและสุนัขสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ห้ามพ่นเข้าตาสัตว์ เนื่องจากผสมกับแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้แสบตา หากถูกตาสัตว์จะทำให้กระจกตาขุ่นและเป็นแผลได้

4. น้ำมันตะไคร้หอม ใช้ชุดเครื่องกลั่นด้วยไอน้ำสำหรับเกษตรกร ได้น้ำมัน 70 ซีซี จากใบตะไคร้หอมสด 10 กิโลกรัม นำน้ำมันตะไคร้หอมที่กลั่นได้มาผสมด้วยแอลกอฮอล์ (95%) 12 เท่า ใช้ฉีดฆ่าเห็บตัวอ่อนบนตัวโคและสุนัข ถ้าต้องการพ่นฆ่าเห็บตัวแก่ ให้ผสมน้ำมันตะไคร้หอมด้วยแอลกอฮอล์ได้เพียง 3 เท่า ฉีดพ่นตามซอกมุม หลุม ของพื้นบริเวณที่สัตว์นอนหลับ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถ้าจะพ่นที่ตัวสัตว์ต้องห้ามพ่นเข้าตา เนื่องจากผสมกับแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกัน

5. น้ำมันจากเปลือกผลส้ม บีบน้ำมันจากเปลือกผลส้มโอลูกเล็กๆ ที่เกษตรกรเด็ดทิ้ง ในกรณีที่ติดผลอ่อนมากเกินไป หรือบีบน้ำมันจากเปลือกผลส้มที่ซื้อมารับประทาน โดยบีบให้น้ำมันพุ่งใส่ขวดปากกว้าง แล้วดูดเก็บเฉพาะน้ำมันซึ่งลอยอยู่บนส่วนที่เป็นน้ำ นำมาผสมด้วยแอลกอฮอล์ (95%) 10 เท่า ของปริมาตรน้ำมัน ใช้ฉีดพ่นฆ่าเห็บโค หรือสุนัข ได้ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ ถ้ามีเปลือกผลส้มจำนวนมาก สามารถใช้วิธีการบีบด้วยไฮโดรลิกหรือโดยการกลั่นด้วยไอน้ำได้

6. มะขามเปียก เป็นสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดใน 6 ชนิดนี้ สกัดด้วยการแช่มะขามเปียกในน้ำ หรือใน 10% แอลกอฮอล์ โดยใช้น้ำหรือ 10% แอลกอฮอล์ในปริมาตร 5 เท่า ของน้ำหนักมะขามเปียก แช่ค้าง 1 คืน แล้วเทเฉพาะสารละลายมาใส่ขวดฉีดพ่นฆ่าเห็บตัวแก่ ตัวเห็บจะถูกสารสกัดจากน้ำมะขามเปียกกัดเป็นแผลตาย การใช้ 10% แอลกอฮอล์แช่สกัดจะทำให้สารละลายที่สกัดได้ไม่มีเชื้อราขึ้นด้วย