คำถาม : การเลือกใช้ตัวทำละลายในการสกัดสาร- - การเลือกใช้ตัวทำละลายในการสกัดสาร ต้องมีวิธีการเลือกอย่างไร
- โดยส่วนตัวมีการสกัดสารจากหอมหัวใหญ่โดยใช้ 70 % Ethanol เป็นตัวทำละลาย อยากทราบถึงวิธการการที่จะแยกน้ำตาลออกจากสารสกัดที่ได้ค่ะ ว่ามีวิธีการแยกอย่างไร ใช้เทคนิคและอุปกรณอะไรบ้างในการแยกน้ำตาลออกจากสารสกัด
- Date : 26/9/2560 16:35:00
คำตอบ : - การเลือกใช้ตัวทำละลายในการสกัดสารขึ้นอยู่สมบัติของสารสำคัญที่เราต้องการ ตามหลัก like dissolves like ค่ะ เพราะโดยปกติแล้วการที่ตัวถูกละลายจะละลายในตัวทำละลายหนึ่งๆ ได้นั้น สารทั้งสองชนิดจะต้องมีสมบัติเหมือนกัน นั่นคือ ตัวถูกละลายที่มีขั้วจะละลายในตัวทำละลายที่มีขั้ว แต่จะไม่ละลายในตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว เช่น เอทานอลจะละลายในน้ำ แต่ไม่ละลายในเฮกเซน ในทางตรงข้าม ตัวถูกละลายที่ไม่มีขั้วจะละลายในตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว แต่จะไม่ละลายในตัวทำละลายที่มีขั้ว เช่น คาร์บอนเตตระคลอไรด์จะละลายในเบนซีน แต่ไม่ละลายในน้ำ แต่ถ้าในกรณีที่สารหนึ่งมีขั้วน้อยกว่าอีกสารตัวหนึ่ง ความสามารถในการละลายก็ลดลง หรืออาจจะกล่าวอีกนัยคือละลายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสมบัติของสารแต่ละชนิดสามารถหาอ่านได้จากหนังสือเคมีทั่วไปค่ะ
- อย่างที่ให้คำตอบไปแล้วนะคะ คือให้ทำการแยกโดยอาศัยการละลายของสารในตัวทำละลาย 2 ชนิดที่ไม่เข้ากัน (Liquid/Liquid Extraction) ในกรณีนี้อาจนำสารสกัดที่ได้ไปละลายในสารละลายอินทรีย์ที่ไม่เข้ากับน้ำ เช่น บิวทานอล หรือ เฮกเซน หรือ ไดคลอโรมีเทน แล้วนำมาเขย่ากับน้ำ โดยใช้กรวยแยก สารที่มีขั้วสูงเช่นน้ำตาลจะละลายในน้ำ ส่วนสารที่มีขั้วต่ำกว่า จะละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ เมื่อตั้งทิ้งไว้สารละลายจะแยกเป็นสองชั้น ให้แยกเก็บสารละลายชั้นน้ำหรือสารละลายชั้นตัวทำละลายอินทรีย์ตามที่ต้องการ หากสารที่ต้องการอยู่ในชั้นของตัวทำละลายอินทรีย์ให้นำไประเหยตัวทำละลายอินทรีย์ออก โดยอาจใช้เครื่อง rotary evaporator ก็จะได้สารสกัดที่ไม่มีน้ำตาล แต่ก็อาจมีสารอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลแต่ละลายน้ำได้ออกไปด้วย หากต้องการแยกสารสำคัญต่อ อาจต้องใช้เทคนิคอื่นๆ เช่น column chromatography หรือเทคนิคอื่นๆ หากต้องการส่วนของน้ำตาลที่อยู่ในชั้นของน้ำ อาจต้องใช้เทคนิคในการระเหยแห้ง การตกผลึก หรือเทคนิคอื่นๆ ซึ่งตรงนี้แนะนำให้ลองปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาจะเหมาะสมกว่าค่ะ