คำถาม : การแยกน้ำตาลออกจากสารสกัด
  • มีวิธีการแยกน้ำตาลออกจากสารสกัดที่ได้ ต้องทำอย่างไรค่ะ
  • Date : 15/9/2560 16:43:00
คำตอบ : วิธีการแยกน้ำตาลออกจากสารสกัดขึ้นกับวัตถุประสงค์ค่ะ คือจะแยกเพื่อเอาน้ำตาลไปใช้ต่อ หรือต้องการกำจัดน้ำตาลออกจากสารสกัด ถ้าต้องการกำจัดน้ำตาลออก ก็ต้องไปดูว่าสารสกัดนั้นสกัดด้วยตัวทำละลายอะไร ถ้าเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ที่มีขั้วต่ำกว่าน้ำ อาจใช้วิธี การแยกโดยอาศัยการละลายของสาร ในตัวทำละลาย 2 ชนิด ที่ไม่เข้ากัน เช่นนำสารสกัดละลายในละลายอินทรีย์ที่ไม่เข้ากับน้ำ เช่น บิวทานอล หรือ เฮกเซน หรือ ไดคลอโรมีเทน เขย่ากับน้ำ โดยใช้กรวยแยก สารที่มีขั้วสูงเช่นน้ำตาลจะละลายในน้ำ ส่วนสารที่มีขั้วต่ำกว่า จะละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ เมื่อสารละลายแยกเป็นสองชั้น ก็แยกเอาสารละลายชั้นน้ำออก และเก็บสารละลายชั้นตัวทำละลายอินทรีย์ แล้วนำไประเหยตัวทำละลายอินทรีย์ออกก็จะได้สารสกัดที่ไม่มีน้ำตาล (อาจมีสารอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลแต่ละลายน้ำได้ออกไปด้วย) แต่ถ้าต้องการแยกเพื่อเอาน้ำตาลไปใช้ สำหรับพืชที่มีน้ำตาลสูงอาจลองใช้วิธีเดียวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบจากอ้อย ดังนี้
อ้างอิงจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ

1. เตรียมสารสกัด
2. การทำความสะอาดหรือทำให้ใสโดยผ่านวิธีทางกล เช่น ผ่านเครื่องกรองต่าง ๆ และวิธีทางเคมี เช่น ให้ความร้อนและผสมปูนขาว
3. การต้ม เพื่อระเหยเอาน้ำออกประมาณ 70 % สุดท้ายจะได้น้ำเชื่อม
4. การเคี่ยว โดยน้ำเชื่อมที่ได้จะถูกนำเคี่ยวในหม้อที่มีระบบสุญญากาศ เพื่อระเหยน้ำออกจนน้ำเชื่อมถึงจุดอิ่มตัว ที่จุดนี้ผลึกน้ำตาลจะเกิดขึ้นมา โดยที่ผลึกน้ำตาล และกากน้ำตาลที่ได้จากการเคี่ยวนี้รวมเรียกว่า แมสิควิท (Messecuite)
5. การปั่นแยกผลึกน้ำตาล แมสิควิทที่ได้จากการเคี่ยวจะถูกนำไปปั่นแยกผลึกน้ำตาลออกจาก กากน้ำตาล โดยใช้เครื่องปั่น ผลึกน้ำตาลที่ได้นี้จะเป็นน้ำตาลดิบ
6. การปั่นละลาย นำน้ำตาลดิบมาผสมกับน้ำร้อน หรือน้ำเหลืองจากการปั่นละลาย (Green Molasses) น้ำตาลดิบที่ผสมนี้เรียกว่า แมกม่า (Magma) และแมกม่านี้จะถูกนำไปปั่นละลายเพื่อล้างคราบน้ำเหลือง หรือกากน้ำตาลออก
7. การทำความสะอาด และฟอกสี น้ำเชื่อมที่ได้จากหม้อปั่นละลาย จะถูกนำไปละลายอีกครั้งเพื่อละลายผลึกน้ำตาลบางส่วนที่ยังละลายไม่หมดจากการปั่น และผ่านตะแกรงกรองเข้าผสมกับปูนขาว เข้าฟอกสีโดยผ่านเข้าไปในหม้อฟอก (ปัจจุบันนิยมใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวฟอก) จากนั้นจะผ่านเข้าสู่การกรองโดยหม้อกรองแบบใช้แรงดัน (Pressure Filter) เพื่อแยกตะกอนออก และน้ำเชื่อมที่ได้จะผ่านไปฟอกเป็นครั้งสุดท้ายโดยกระบวนการแลกเปลี่ยนประจุ (Ion Exchange Resin) จะได้น้ำเชื่อมรีไฟน์
8. การเคี่ยว น้ำเชื่อมรีไฟน์ที่ได้จะถูกนำเข้าหม้อเคี่ยวระบบสูญญากาศ (Vacuum Pan) เพื่อระเหยน้ำออกจนน้ำเชื่อมถึงจุดอิ่มตัว
9. การปั่นแยกผลึกน้ำตาล แมสิควิทที่ได้จากการเคี่ยวจะถูกนำไปปั่นแยกผลึกน้ำตาลออกจากกากน้ำตาล โดยใช้เครื่องปั่น ผลึกน้ำตาลที่ได้นี้จะเป็น น้ำตาลรีไฟน์ และน้ำตาลทรายขาว
10. การอบ ผลึกน้ำตาลรีไฟน์ และน้ำตาลทรายขาวที่ได้จากการปั่นก็จะเข้าหม้ออบ เพื่อไล่ความชื้นออก

อีกวิธีคือวิธีแยกด้วยวิธี diffusion ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ตาม link นี้ http://www.smbsc.com/OurSugar/SugarProcess/Extraction.aspx

อ้างอิง :
- กระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบจาก http://www.thaisugarmillers.com/tsmc-02-02.html
- กระบวนการผลิตน้ำตาลทราย http://www.cms2green.com/lowsugar/Manufacture.php