คำถาม : ชาใบหม่อน- การกินชาใบหม่อนปริมาณเท่าใด จะสามารถสดระดับน้ำตาลในเลือดได้ครับ เเล้วทานนานๆมีผลข้างเคียงไหมครับ
- Date : 7/6/2560 15:53:00
คำตอบ : การรับประทานใบหม่อนเพื่อลดน้ำตาล พบว่าการใช้ใบหม่อนในรูปแบบของชาชงให้ผลไม่ดีเท่ากับการใช้ในรูปของการรับประทานแคปซูลจากผงใบ เมื่อให้อาสาสมัครปกติที่มีระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 126 มก./ดล. โดยให้ดื่มชาใบหม่อน ขนาด 100 มล. (ใบหม่อน 2 ก. ชงในน้ำร้อน 100 มล. ทิ้งไว้ 12 นาที) หรือน้ำอุ่น ขนาด 100 มล. จากนั้น 30 นาทีให้หลัง ให้สารละลายซูโครส 75 ก. พบว่ากลุ่มที่ได้รับชาใบหม่อนมีแนวโน้มของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำอุ่นซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม แต่ไม่แตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีความแตกต่างในระดับของความไวต่ออินซูลิน แต่เมื่อให้ผู้ป่วยป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 และผู้ป่วยที่มีน้ำตาลในเลือดสูงและเสี่ยงเป็นเบาหวาน รับประทานแคปซูลผงใบหม่อนในขนาด 3-5.4 ก./วัน (แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร) ติดต่อกัน 1- 3 เดือน จะช่วยให้ผู้ป่วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น ระดับน้ำตาล และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลง
สำหรับการศึกษาความปลอดภัยของการรับประทานผงสารสกัดจากใบหม่อนในระยะยาว เมื่อให้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือด 110 - 140 มก./ดล.) รับประทานแคปซูลสารสกัดใบหม่อน (มีปริมาณ DNJ 6 มก./แคปซูล) ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่พบรายงานความเป็นพิษหรือเกิดผลข้างเคียงที่อันตราย จากรายงานข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากต้องการรับประทานเพื่อลดระดับน้ำตาล ควรรับประทานในรูปของแคปซูลผงใบหม่อน ขนาด 3-5.4 ก./วัน ติดต่อกันไม่เกิน 3 เดือน เนื่องจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยหากรับประทานมากกว่า 3 เดือน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase เช่น Acarbose ควรระมัดระวังในการใช้หม่อนร่วมกับยานี้ เนื่องจากหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้ง α -glucosidase ได้เช่นกัน ดังนั้นหม่อนอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไปจนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้