คำถาม : สอบถามเกี่ยวกับสมุนไพร
  • รบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ
    1 น้ำมันไพลที่สกัดด้วยวิธีการทอด ด้วยน้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันปาล์ม มีความคงตัวนานแค่ไหนคะ ที่ไม่ทำให้ประสิทธิภาพแก้อาการปวดเมื่อยลดลงและไม่ทำให้เกิดกลิ่นหืนค่ะ
    2 เมื่อนำน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม มาเตรียมเป็นยาหม่องแก้อาการปวดเมื่อย จะมีความคงตัวนานแค่ไหนคะ (ยังคงประสิทธภาพการรักษาและไม่เหม็นหื่น)
    3.สารจากเปลือกกล้วยที่ให้ความชุ่มชื้น คือสารอะไรคะ และสามารถสกัดได้จากส่วนไหนอีก นอกจากเปลือกกล้วย และควรสกัดด้วยวิธีไหนเหมาะสมที่สุดคะ
    4.สมุนไพรใด หรือสารสกัดจากสมุนไพรไดที่ออกฤทธิ์คล้ายกรดซาลิไซลิก คะ

  • Date : 19/5/2560 15:41:00
คำตอบ : 1. และ 2. ประสิทธิภาพในการแก้ปวดเมื่อยและความคงตัวของน้ำมันไพลและยาหม่องที่เตรียมได้ขึ้นอยู่กับวิธีการทำ วัตถุดิบไพล องค์ประกอบในตำรับ และการเก็บรักษา จึงไม่สามารถตอบได้ว่าเก็บไว้นานแค่ไหน อย่างไรก็ตามกลิ่นหืนที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นกับชนิดของน้ำมันพืชที่นำมาทอด หากเลือกน้ำมันที่ทนความร้อนหรือน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงเช่น น้ำมันปาล์มก็จะอยู่ได้นานกว่า เมื่อเทียบกับน้ำมันถั่วเหลืองเนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงจะเหม็นหืนเร็ว

3. มีงานวิจัยว่า สารสกัดโพลีแซคคาไรด์จากเปลือกกล้วยมีผลเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว การสกัดโพลีแซคคาไรด์แบบคร่าวๆ ทำโดยนำเปลือกกล้วยอบแห้งมาบดเป็นผง สกัดด้วยสารละลาย 50% ethanol กรองแยกสารสกัดกับผงด้วยกระดาษกรอง จากนั้นนำผงตะกอนที่ผ่านการสกัดแล้วไปอบแห้ง แล้วทำการสกัดด้วยน้ำ กรองแยกสารละลายส่วนใสมาตกตะกอนโพลีแซคคาไรด์ด้วย 95% ethanol อุณหภูมิ – 20ºC ทำการแยกโพลีแซคคาไรด์ซึ่งมีลักษณะเป็นเจลใสออกจากตะกอน โดยการปั่นเหวี่ยง
(อ้างอิงจาก ปิ่นอนงค์ คงดำ. การพัฒนาสารสกัดจากเปลือกกล้วยเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นผิว. เข้าถึงเมื่อ 5 เมย. 2560 จาก http://postgrads.mfu.ac.th/ckfinder/userfiles/files/1-5651701273.pdf)

4. กรดซาลิไซลิก มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ต้านสะเก็ดเงิน เป็นต้น สมุนไพรที่พบกรดซาลิไซลิก จะพบมากในพืชสกุล Salix เช่น สนุ่น willow นอกจากนี้ยังพบในต้น wintergreen (Gaultheria procumbens) ที่นำมาทำน้ำมันระกำ