คำถาม : การใช้สมุนไพร- มีปัญหานอนไม่หลับค่ะ หาข้อมูลมาประมาณนึง สนใจดอกเสาวรส และมะเฟือง เห็นมีหลายเว็บบอกว่า ช่วยเรื่องนอนหลับสบายขึ้น ไม่ทราบว่าสมุนไพรสองตัวนี้ สามารถต้มรวมกันแล้วทานเป็นชาได้มั้ยคะ หากทานต่อเนื่องมีผลต่อตับ หรือส่วนอื่นมั้ยคะ หรือมีสมุนไพรตัวไหนแนะนำมั้ยคะ
- Date : 28/2/2560 14:02:00
คำตอบ : จากการสืบค้นงานวิจัย ไม่พบรายงานการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับของดอกมะเฟือง แต่พบรายงานการวิจัยในสัตว์ทดลองระบุว่าสารสกัดเอทานอลจากผลมะเฟืองเมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูเม้าส์มีผลทำให้การเคลื่อนไหวของหนูลดลงหรือมีอาการสงบลง และมีแนวโน้มว่าอาจช่วยให้หลับได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรายงานทางคลินิก
ส่วนเสาวรสนั้น จัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Passiflora ซึ่งมีความหลากหลายมาก ในโลกสามารถพบได้มากกว่า 500 สายพันธุ์ และในการใช้ประโยชน์ทางยาจะแบ่งเป็นหมวดใหญ่ๆ คือใช้ส่วนดอกและใช้ผล สายพันธุ์เสาวรสที่พบในประเทศไทยนั้นมี 2 ชนิดคือ พันธุ์ผลสีม่วง (Passiflora edulis) และพันธุ์ผลสีเหลือง (Passiflora edulis f. flavicarpa O. Deg.) ซึ่งจากการสืบค้นงานวิจัยไม่พบการใช้ประโยชน์จากส่วนดอกของเสาวรสทั้งสองสายพันธุ์ พบเพียงการใช้สารสกัดเอทานอลจากส่วนใบและลำต้นเพื่อลดอาการวิตกกังวลและทำให้สัตว์ทดลองสงบลง ส่วนการศึกษาทางคลินิกพบรายงานการทดสอบโดยให้อาสาสมัคร 9 คน (ทั้งชายและหญิง) ที่มีอายุระหว่าง 20-35 ปี รับประทานแคปซูลสารสกัดน้ำหรือชา (เข้มข้น 10%) จากส่วนใบเสาวรส วันละ 4 แคปซูลก่อนอน ติดต่อกันนาน 1 สัปดาห์ พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอาสาสมัครกลุ่มที่ระบประทานแคปซูลเสาวรสและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในเรื่องผลของการนอนหลับ แต่กลับพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ระบประทานแคปซูลเสาวรสบางรายมีค่าโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ไต และตับเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ bilirubin, uric acid, creatinine phosphokinase และ glutamic-oxaloacetic transaminase
ดังนั้นจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าการนำส่วนดอกพืชทั้งสองชนิดมาชงเป็นชาจะสามารถช่วยให้นอนหลับได้ และเนื่อจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยจึงไม่แนะนำให้ใช้ค่ะ อาการนอนไม่หลับมีหลายสาเหตุเช่น ความเครียด การเดินทาง ปัญหาสุขภาพ ปัญหาชีวิต หรือเกิดจากความผิดปกติจากการนอนอย่างอื่น ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับปัญหาและสาเหตุที่เป็น การรักษาให้ถูกจุดควรปรึกษาแพทย์ เพราะถ้ามีการใช้ยาจะใช้ต่อเนื่องและยาว ส่วนการใช้สมุนไพรแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหย ทำให้ผ่อนคลาย เช่น น้ำมันดอกลาเวนเดอร์ ดอกมะลิ เตยหอม เป็นต้น
Ref :
1. Muir CK, Lam CK. Depressant action of Averrhoa carambola. Med J Malaysia. 1980; 34(3): 279-80
2. Li H, Zhou P, Yang Q, Shen Y, Deng J, Li L, Zhao D. Comparative studies on anxiolytic activities and flavonoid compositions of Passiflora edulis edulis and Passiflora edulis flavicarpa. J Ethnopharmacol. 2011; 133(3): 1085-90
3. Hu J, Zhou J, Shang J, Wang C, Zhao Y, Xu F, Yang L, Cui J, Liu Y, Tan S. Preparation of Passiflora edulis stem and leaf extract as sedative and anti-depression for treating depression. From Faming Zhuanli Shenqing (2013) 10pp, CN 103040882 CAN 158:627131
4. Maluf E, Barros HMT, Frochtengarten ML, Benti R, Leite JR. Assessment of the hypnotic/sedative effects and toxicity of Passiflora edulis aqueous extract in rodents and humans. Phytother Res. 1991; 5: 262-6