คำถาม : มะเกี๋ยง- รบกวนขอข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยมะเกี๋ยงหรือข้อมูลเกี่ยวกับมะเกี๋ยง เนื่องจากได้ไปเยี่ยมชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติที่เมืองทองธานี แล้วมีความสนใจในมะเกี๋ยง (Cleistocalyx nervosum var. paniala) ค่ะ จึงรบกวนขอข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยมะเกี๋ยงหรือข้อมูลเกี่ยวกับมะเกี๋ยง ขอบคุณค่ะ
- Date : 21/10/2559 13:23:00
คำตอบ : มะเกี๋ยง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cleistocalyx nervosum var. paniala เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์ MYRTACEAE มีลักษณะคล้ายหว้าขาว (Cleistocalyx nervosum var. nervosum) โดยความแตกต่างระหว่างพืชสองชนิดพันธุ์นี้อยู่ที่การจัดเรียงหรือจำนวนของดอกในช่อดอกย่อย ขนาดของฐานดอกรูปถ้วย (hypantium) รวมทั้งขนาดและรูปร่างของผล โดยที่มะเกี๋ยงมักมีดอกจำนวน 3 ดอก ติดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มช่อดอกย่อย มีฐานดอกรูปถ้วยขนาดใหญ่กว่า 4 มิลลิเมตร ผลรูปไข่ขอบขนาน ( oval-oblong) และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผลมากว่า 1.5 เซนติเมตร ส่วนหว้าขาวมักมีจำนวนดอกในแต่ละช่อดอกย่อยมากว่า 4 ดอก ฐานดอกรูปถ้วยมีขนาดเล็กกว่า 4 มิลลิเมตร ผลรูปกลม (globose) และเส้นผ่าศูนย์กลางผลน้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร
ผลมะเกี๋ยงสุกนำมาบริโภคสดและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้เมล็ดมะเกี๋ยงยังสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำมันเมล็ดมะเกี๋ยงคือ linalool, R-terpinene, R-ionone และ caryophyllene, terpinene-4-ol-, linonene, linalool (3,7-dimethy 1-1, 6-octadien-3-0) เป็นสารพวก Terpene alcohol ซึ่งมีกลิ่นหอม พบมากในน้ำมันมะกรูด (bergamot oil ) ที่ได้จากเปลือกผลไม้สุกประเภทส้มหรือมะนาว เป็นที่รู้จักในอีกรูปหนึ่งคือ cariandrol (disomer) ซึ่งใช้มากในอุตสาหกรรมน้ำหอมและแต่งกลิ่น นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารสำหรับสังเคราะห์สารหอมระเหยและแต่งกลิ่นได้ด้วย
เนื่องจากมะเกี๋ยงเป็นพืชวงศ์เดียวกับหว้า และมีการวิจัยพบว่าผลหว้ามีฤทธิ์ทางทางเภสัชวิทยาในหลายๆ ด้าน จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่ามีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ซึ่งจัดเป็นสารประกอบฟีนอลิก เช่น resveratrol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และกระตุ้นการเพิ่มระดับของ HDL ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในส่วนเปลือกของมะเกี๋ยงพบสารในกลุ่มโพลิฟีนอล (polyphenols ) และแทนนิน (tannin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกัน จากการวิเคราะห์คุณภาพไวน์มะเกี๋ยงที่ผลิตโดยสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง พบว่าในไวน์มะเกี๋ยงมีสารประกอบฟีนอลิกในรูปกรดแกลลิก (gallic acid) และคาเทซิน ( catechin)
Ref : สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ http://rspg.dss.go.th/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=491