คำถาม : ส้มแขก,มะขามแขก,และชุมเห็ดเทศ
  • การใช้ส้มแขก,มะขามแขก,และชุมเห็ดเทศ มีวิธีการใช้อย่างไรบ้าง มีผลรับและพิษแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ
  • Date : 9/3/2559 16:41:00
คำตอบ : เข้าใจว่าหมายถึงความแตกต่างของฤทธิ์ช่วยระบายหรือบรรเทาอาการท้องผูกของพืช 3 ชนิดนี้ใช่หรือไม่ ชุมเห็ดเทศและมะขามแขกจัดเป็นสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติในหมวดกลุ่มยาเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก มีสารสำคัญคือ แอนทราควิโนน (antraquinone) ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ทำให้ถ่ายท้องได้เหมือนกัน วิธีใช้ชุมเห็ดเทศ ใช้ใบ 8 - 12 ใบ ตากแดดให้แห้ง ป่นเป็นผงชงกับน้ำเดือด รินน้ำดื่มขณะอุ่น หรือใช้ดอก 1 ช่อ กินสดๆ เป็นยาระบาย หรือใช้ใบและก้านขนาดใหญ่ ประมาณ 3 – 5 ช่อ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 2 ขัน (1500 มล.) ต้มให้เดือดเหลือน้ำประมาณ 1/2 ขัน ใส่เกลือพอมีรสเค็มเล็กน้อย ดื่มวันละ 1 แก้ว (250 มล.) หรือใช้ใบสดหรือแห้งประมาณ 12 ใบ ต้มกับน้ำดื่มครั้งละแก้ว อาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ คือ คลื่นไส้ มวนท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย ส่วนมะขามแขก ใช้ใบแห้ง 1 - 2 กำมือ (หนัก 3 - 10 ก.) ต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้วิธีบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือใช้ฝัก 4 - 5 ฝัก ต้มกับน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง (ฝักจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าใบ) แก้ไขได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรช่วยระบายเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทที่ใช้ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ ทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลง ร่างกายจะเคยชินกับการกระตุ้น และไม่ถ่ายอุจจาระด้วยตนเองตามปกติ และเมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการดื้อยา และต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ จึงแนะนำว่าให้ใช้เป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการใช้มะขามแขกติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เอนไซม์ในตับสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการตับบกพร่องและไตวายเฉียบพลัน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้บ่อยๆ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับและไตควรหลีกเลี่ยง หรือใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ส่วนส้มแขกไม่มีฤทธิ์ใช้ในการระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก และปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาความเป็นพิษของพืชชนิดนี้ค่ะ