คำถาม : รางจืด ใบเตย เขยตาย- อยากทราบข้อมูลงานวิจัยของ เขยตาย รางจืด ใบเตย และเมื่อนำส่วนของใบแต่ละชนิดมาสกัดทำชาสมุนไพร รวมกันแล้วจะมีพิษหรือไม่ ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ค่ะ
- Date : 8/12/2558 14:44:00
คำตอบ : 1. รางจืด (Thunbergia laurifolia )
สรรพคุณแผนโบราณ: ยารสเย็น จืด ใบสดคั้นน้ำกินแก้ไข้ และถอนพิษ ปรุงเป็นยาเขียว ลดความร้อนในร่างกาย รากและเถา แก้อักเสบ แก้ปวดบวม แก้เมาค้าง แก้อาการปวดหัวมึนหัวเนื่องมาจากพิษสุรา ถอนพิษสุรา พิษตกค้างในร่างกาย
ข้อมูลงานวิจัย: ลดอาการพิษจากสารกําจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด ได้แก่ ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต เช่น โฟลิดอล (folidol) หรือเมทิลพาราไทออน (methylparathion), พาราไทออน (parathion), ยาฆ่าหญ้ากรัมม๊อกโซน, ยาฆ่าหญ้าพาราควอต แก้พิษของ tetrodotoxin จากไข่แมงดาทะเล
รายงานความเป็นพิษ: งานวิจัยในการศึกษาพิษของรางจืดยังไม่มีการศึกษาในคน พบเพียงการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูขาว พบว่าน้ำสกัดใบรางจืดที่ขนาด 10 ก/กก. ครั้งเดียว ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะภายในและไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหนูขาว แต่ถ้าให้ในขนาด 500 มก./กก. ต่อเนื่องนาน 28 วัน พบว่ามีผลทำให้น้ำหนักตับของหนูเพศผู้เพิ่มขึ้น แต่ในเพศเมียน้ำหนักตับกลับลดลง และมีระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ารางจืดอาจมีผลต่อตับของหนูเมื่อใช้ในระยะเวลานาน ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
2. ใบเตย (Pandanus odorus )
สรรพคุณแผนโบราณ: เป็นยาบํารุงหัวใจ ลดกระหายน้ำ ดับพิษไข้ แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย แก้ท้องเสีย ลดน้ำตาลในเลือด คลายเครียด
ข้อมูลงานวิจัย: มีฤทธิ์ลดไข้และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง
3. เขยตาย (Glycosmis pentaphylla )
สรรพคุณแผนโบราณ: กระทุ้งพิษ ขับน้ำนม รักษาฝี แก้พิษฝีภายนอกและภายใน แก้พิษแมลง แก้พิษไข้
ข้อมูลงานวิจัย: มีฤทธิ์แก้อักเสบในสัตว์ทดลอง และฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง
**ไม่มีรายงานความเป็นพิษของใบเตยและเขยตาย ใบเตยสามารถนำมาบริโภคได้ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ควรสังเกตอาการระหว่างใช้ สำหรับเขยตาย จำเป็นต้องศึกษาทดสอบความเป็นพิษเพิ่มเติม และไม่มีข้อมูลการใช้สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดร่วมกันว่ามีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร อย่างไรก็ตามการนำสมุนไพรมาผสมกันเป็นตำรับ ต้องมีการทำศึกษาวิจัยและทดสอบตำรับยาอีกครั้งว่ามีฤทธิ์เสริมกันหรือหักล้างกัน รวมทั้งศึกษาความเป็นพิษในคน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาสมุนไพร สามารถ Download เอกสารได้ที่ http://www.medplant.mahidol.ac.th/events/ ค่ะ