คำถาม : เถาวัลย์เปรียง
  • เรียนถามเกี่ยวกับ เถาวัลย์เปรียง
    - ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคไต สามารถทานยาเถาวัลย์เปรียงได้หรือไม่ค่ะ? ควรทานในปริมาณเท่าใด? มีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ค่ะ?
    - อ่านพบรายงานว่าส่วนสกัดน้ำจากลำต้นแห้งเถาวัลย์เปรียง มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ไม่ทราบว่าผู้ป่วยที่เป็นความดันและทานยาแผนปัจจุบันอยู่ สามารถทานเถาวัลย์เปรียงได้มั้ยค่ะ?
    ขอบคุณค่ะ

  • Date : 21/1/2556 13:51:00
คำตอบ : จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัย ยังไม่พบการศึกษาฤทธิ์ทางยาของเถาวัลย์เปรียงที่เกี่ยวข้องกับระบบไต และงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดความดันโลหิตของเถาวัลย์เปรียงนั้น เป็นเพียงการทดสอบในสัตว์ทดทอง ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิก และมีรายงานว่า สารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ซึ่งจะมีผลลดความดันโลหิต และลดอัตราการเต้นของหัวใจในสัตว์ทดลอง จึงแนะนำว่าผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจยังไม่ควรรับประทาน จนกว่าจะมีรายงานความปลอดภัยที่แน่ชัด รวมถึงผู้ป่วยโรคความดันที่รับประทานยาแผนปัจจุบันก็ไม่ควรรับประทาน เพราะอาจไปมีผลยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์ของยา นอกจากจะมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เจ้าของไข้
               ในบัญชียาสมุนไพร พ.ศ. 2554 จัดให้เถาวัลย์เปรียงเป็นยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งมีข้อควรระวังคือ ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากเถาวัลย์เปรียงมีกลไกออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) และการรับประทานเถาวัลย์เปรียงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร มีอาการไม่พึงประสงค์คือ ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง และใจสั่น