คำถาม : การใช้ยาสมุนไพร
  • 1. เนื่องจากบัญชียาสมุนไพร พ.ศ. 2554 ได้ระบุข้อควรระวังเพิ่มเติมสำหรับยาสมุนไพรบางชนิด เช่น ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร ที่ควรระวังการใช้ร่วมกับยากลุ่ม anticoagulant, antiplatelet และ CYP P450 ทำให้แพทย์ผู้ใช้ยาสนใจสอบถามกันมากว่ายาสมุนไพรเหล่านี้สามารถใช้ร่วมกับยากลุ่มนี้ได้หรือไม่ และควรใช้อย่างไรจึงปลอดภัย หรือควรหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ร่วมกันเลย เนื่องจากยาแผนปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีการใช้อย่างกว้างขวาง รบกวนขอคำแนะนำการใช้หน่อยค่ะ
    2. ยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ไม่มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ไม่กัดกระเพาะ ทำให้แสบท้อง จริงหรือเปล่าค่ะ?

  • Date : 31/12/2555 12:11:00
คำตอบ : 1. เนื่องจากทั้งขมิ้นชันและฟ้าทะลายโจร มีรายงานวิจัยว่ามีฤทธิ์ anticoagulant, antiplatelet และยับยั้ง CYP P450 ดังนั้นการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ดังกล่าวอาจมีผลไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้ยาออกฤทธิ์เพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง
ขมิ้นชัน
- ฤทธิ์ anticoagulant โดยเพิ่มระดับของโปรตีน prothombin, fibrinogen และ haptoglobin ลด platelet factor 3 like activity ในผู้ป่วยเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินที่มีภาวะผิดปกติของการเกิดลิ่มเลือดที่มากเกินไป
- ฤทธิ์ antiplatelet สาร curcumin และสาร ar-turmerone ในขมิ้นชัน มีฤทธิ์ต้านการรวมตัวของเกร็ดเลือดที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย platelet-activating factor, arachidonic acid และ collagen โดยผ่านการยับยั้งการสร้าง thromboxane และการเคลื่อนที่เข้าออกของแคลเซียมในเซลล์ สารสกัดขมิ้นชัน มีฤทธิ์ต้านการรวมตัวของเกร็ดเลือดที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย arachidonic acid โดยยับยั้งการสร้าง thromboxane B2 เพิ่มการสร้าง lipoxygenase-derived product ในเกร็ดเลือด
- ฤทธิ์ยับยั้ง CYP P450 สารสกัดขมิ้นชันและ curcumin มีฤทธิ์ยับยั้ง CYP P450 หลายชนิด ได้แก่ CYP1A1, CYP1A2, CYP2D6, CYP2C9, CYP2B6, CYP3A4, CYP2B1
- ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) สารสกัดขมิ้นชัน และ curcumin มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX -1 และ COX-2
- ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase สาร curcumin และอนุพันธุ์ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase
ฟ้าทะลายโจร
- ฤทธิ์ antiplatelet สาร andrographolide และอนุพันธุ์ มีฤทธ์ต้านการรวมตัวของเกร็ดเลือดที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย thrombin และ platelet-activating factor โดยยับยั้ง extracellular signal-regulated kinase ½ pathway สารสกัดฟ้าทะลายโจรต้านการรวมตัวของเกร็ดเลือดที่เหนี่ยวนำโดย ADP
- ฤทธิ์ยับยั้ง CYP P450 สารสกัดฟ้าทะลายโจร, สาร andrographolide มีฤทธิ์ยับยั้ง CYP3A4, CYP2C19, CYP2C11, CYP2C9
- ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) สาร andrographolide ยับยั้งเอนไซม์ COX-2
- ฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง thromboxane B2 สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง thromboxane B2
               2. ในบัญชียาสมุนไพร พ.ศ. 2554 จัดให้เถาวัลย์เปรียงเป็นยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งมี ข้อควรระวัง คือ ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากเถาวัลย์เปรียงมีกลไกออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เถาวัลย์เปรียงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ คือ ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง และใจสั่น