คำถาม : สมุนไพรในการรักษาโรคเบาหวานโดยไม่มีอาการข้างเคียง
  • ควรกินสมุนไพรอะไรในการรักษาโรคเบาหวานดีคะ ระหว่างเห็ดหลินจือหรืออบเชย การรับประทานอบเชยจะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่คะ
    และสามารถกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเท่าไรจึงจะไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ
    นอกจากนี้สามารถกินร่วมกันกับยาลดระดับน้ำตาลที่คุณหมอให้ได้หรือไม่คะ สามารถซื้อได้ที่ไหนคะ

  • Date : 7/10/2554 16:33:00
คำตอบ : การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของเห็ดหลินจือมีพียงการทดลองในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อรับประทานแล้วจะมีผลช่วยในการรักษาได้จริง หรือมีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อย่างอื่นหรือไม่
               ส่วนอบเชยมี รายงานการวิจัยทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับผงอบเชยขนาด 1, 3 และ 6 ก./วัน นาน 40 วันหรือแคปซูลของสารสกัดน้ำจากอบเชย (เทียบเท่ากับอบเชยขนาด 3 ก./วัน) นาน 4 เดือน และอาสาสมัครที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ระหว่าง 100-125 มก./ดล. เมื่อรับประทานสารสกัดน้ำของอบเชย (Cinnulin PF®) ครั้งละ 2 แคปซูล (250 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (เทียบเท่ากับผงอบเชย 10 ก.) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
               อย่างไรก็ตามผลการศึกษาถึงการใช้อบเชยร่วมกับยารักษาเบาหวาน กลับให้ผลที่แตกต่างไป โดยผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานผงอบเชยวันละ 1.5 ก. ร่วมกับยา metformin หรือ sulfonylurea หรือรับประทานอบเชยวันละ 1 ก. (ครั้งละ 1 แคปซูล (500 มก./แคปซูล) วันละ2 ครั้ง เช้า-เย็น) ร่วมกับการใช้ยารักษาเบาหวานและยาลดไขมัน นาน 3 เดือน พบว่าค่าระดับน้ำ ตาลสะสม อินซูลิน ระดับไขมัน และน้ำตาลใน เลือดที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีความแตกต่างกับผู้ป่วยที่ได้รับเพียงยารักษาเบาหวานและยาลดไขมันเพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าการรับประทานอบเชยร่วมกับยารักษาเบาหวาน อบเชยไม่ได้มีผลช่วยให้ระดับน้ำตาล ในเลือดลดลงแต่อย่างใด
               สรุปได้ว่า อบเชยมีแนวโน้มที่อาจที่อาจมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เนื่องจากการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานร่วมด้วย นอกจากนี้ในรายงานการวิจัยที่กล่าวมาไม่ได้ระบุชี้ชัดถึงสายพันธุ์ของต้นอบเชยที่ใช้ เพราะอบเชยหรือ cinnamon นั้นมีสายพันธุ์ทั้งหมดประมาณ 250 ชนิด แต่ละชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน ซึ่งชนิดที่มีรายงานว่ามีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้แก่ อบเชยจีน อบเชยเทศ และอบเชยลังกา ดังนั้นจึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเพื่อรักษาเบาหวานในขณะนี้ จนกว่าจะมีผลการวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดเพียงพอ ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยาลดน้ำตาลอย่างถูกต้อง