คำถาม : การทานสมุนไพรกับวิตมินหรืออาหารเสริม- การทานสมุนไพร กับพวกวิตมินหรืออาหารเสริม จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างครับ เช่น ทำให้ประสิทธิผลน้อยลง การดูดซึมน้อยลง หรือจะมีฤทธิ์ต่อต้านกัน น่ะครับ สมมุติว่าทาน ขมิ้นชันหลังอาหารมื้อละ 2 เม็ด กวาวเครีอแดงกับกระชายดำอย่างละ 1 เม็ดก่อนนอนแล้วทานพวกวิตมินซีแบล็คมอ แบนเนอร์โปรตีน และก็อาหารเสริมบำรุงเส้นผมที่มีส่วนประกอบดังนี้ Horsetail, Brewer Yeast, Biotin, L-Cysteine แล้วการทานสมุนไพรหรือวิตมินที่เหมาะสม ควรทานและหยุดพักเป็นช่วงๆ หรือควรสลับกันทาน ถ้าพักเป็นช่วงๆควรเว้นช่วงประมาณเท่าไหร่ดีครับ
- Date : 29/7/2554 11:47:00
คำตอบ : สิ่งที่คุณถามคือ การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและสมุนไพร (herb-drug interaction) หมายถึงการที่เมื่อใช้ยาและสมุนไพรร่วมกันแล้ว ทำให้ยานั้นมีฤทธิ์ในการรักษาเพิ่มขึ้นหรือลดลง สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1. การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและสมุนไพรแบบเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic herb-drug interaction) หมายถึงสารสำคัญจากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการเสริมฤทธิ์หรือต้านฤทธิ์กับยาอื่น โดยอาจเกิดจากการออกฤทธิ์ที่รีเซพเตอร์เดียวกัน หรือมีผลต่อสรีรวิทยาของระบบเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเป็นพิษได้ สำหรับการต้านฤทธิ์กันทำให้การรักษาไม่ได้ผล
2. การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและสมุนไพรแบบเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic herb-drug interaction) หมายถึงสารสำคัญจากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีผลเปลี่ยนแปลงการดูดซึม (absorption) การกระจายยา (distribution) การเมตาบอลิสม (metabolism) หรือการขับถ่ายยา (excretion) ของยาอื่น นำมาสู่การเพิ่มระดับของยาอันนำมาซึ่งการเกิดความเป็นพิษ ในกรณีที่ระดับยานี้สูงกว่าระดับช่วงการรักษา (therapeutic range) หรือลดระดับยานั้นๆ ทำให้ไม่สามารถแสดงประสิทธิผลในการรักษาได้ เนื่องจากระดับยาต่ำกว่าช่วงการรักษา
เท่าที่มีรายงานวิจัยในเรื่อง drug interaction คือ กระเทียม ขิง แป๊ะก๊วย จะเสริมฤทธิ์กับยา warfarin ซึ่งเป็นยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นอาจทำใหเลือดหยุดยากได้ หรือ ชา และโสม จะต้านการออกฤทธิ์ของยา warfarin จึงไม่ควรรับประทานร่วมกัน เป็นต้น แต่ในส่วนของขิ้นชัน กวาวเครือ กระชาย ยังไม่มีรายงานการวิจัยในเรื่องของ drug interaction กับ วิตามินต่างๆ ที่คุณกล่าวมา จึงไม่สามารถตอบได้ ค่ะ