คำถาม : ว่านชักมดลูกและกวาวเครือขาว
  • การรับประทานว่านชักมดลูกหรือกวาวเครือขาวในผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี และวัยทองมีอันตรายหรือไม่ และรับประทานอย่างไรให้ถูกต้อง รวมทั้งแนะนำสถานที่ซื้อยาที่ปลอดภัยให้ด้วยน่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ
  • Date : 12/5/2554 15:12:00
คำตอบ : ยังไม่มีรายงานการวิจัยผลของว่านชักมดลูกและกวาวเครือขาวในหญิงวัยทองหรือผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ จึงไม่สามารถระบุขนาดที่ใช้ได้ แต่วิธีใช้ตามตำรายาไทยเพื่อแก้มดลูกพิการ เข้าอู่เร็ว และทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ คือนำหัวมาตำ ดองด้วยสุรา รับประทานครั้งละไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ
               การศึกษาการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองพบว่าเมื่อให้สารสกัดเอธิลอะซิเตทของว่านชักมดลูก โดยฉีดเข้าช้องท้องและให้เข้ากระเพาะอาหารโดยตรงแก่หนูเม้าส์เพศผู้ ขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง คือ 5.2 และ 12 ก./กก. ตามลำดับ ถ้าเป็นสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล:น้ำ (1:1) ฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ทั้งสองเพศ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครี่งหนึ่ง คือ 250 มก./กก. ส่วนรายงานความเป็นพิษของกวาวเครือขาว เมื่อให้ผสมผงกวาวเครือขาวในอาหารให้หนูแรท พบขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 2,000 มก./กก.น้ำหนักตัว ซึ่งถือว่ามีความเป็นพิษน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามหนูแรทที่ได้รับกวาวเครือขาวขนาด 25 มก./กก./วัน ติดต่อกัน 200 วัน พบว่าตับเกิดความเสียหายบางส่วน จึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับและไต เพราะสมุนไพรจะถูกขับผ่านตับและไต จึงอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อผู้ป่วยโรคดังกล่าวได้ อีกทั้งพืชทั้งสองชนิดมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง หากต้องการรับประทานเพื่อชดเชยฮอร์โมนเพศหญิงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ หากฮอร์โมนไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมาได้ นอกจากนี้การรับประทานว่านชักมดลูกควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีอุดตัน เนื่องจากว่านชักมดลูกมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และอาจทำให้เสียดท้องได้