คำถาม : สมุนไพรไทยที่ใช้รักษาเยื่อบุช่องปากอักเสบ
  • ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่สามารถนำไปใช้รักษาภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากที่ได้รับการฉายแสง
  • Date : 14/1/2554 15:47:00
คำตอบ : มีการศึกษาประสิทธิผลของกลีเซอรีนพญายอในการป้องกันและบรรเทาอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ในคลินิกเคมีบำบัด ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสั้น 2 แห่ง ของหน่วยผู้ป่วยนอกอายุรกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง กรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึง สิงหาคม พ.ศ. 2548 กลุ่ม ตัวอย่างได้มาจากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 65 ราย โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะเป็นกลุ่มควบคุมในตนเอง จัดให้ผู้ป่วยเข้าระยะทดลอง หรือระยะควบคุมก่อนโดยการสุ่มให้มีจำนวนเท่าๆกัน เมื่อได้รับเคมีบำบัดชุดต่อไปจัดให้อยู่ในระยะควบคุมหรือทดลองสลับกับชุดแรก ระยะทดลองใช้ กลีเซอรีนพญายอ และระยะควบคุมใช้สิ่งทดลองปลอมเป็นกลีเซอรีนบอแรกซ์ หยดน้ำยาในช่องปาก หรือ บริเวณที่เกิดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบครั้งละ 2 หยด วันละ 5 ครั้ง เริ่มต้นภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเคมี บำบัดครบแล้ว 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยบันทึกภาวะเยื่อบุช่องปากด้วยตนเองทุกวัน โดยใช้แบบบันทึกรายการ ของอาการในช่องปากที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำแนกระดับเยื่อบุช่องปากอักเสบตามเกณฑ์ขององค์การอนามัย โลก ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้กลีเซอรีนพญายอหยดในช่องปากภายหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด มีอุบัติการณ์ (7.69%) จำนวนวันที่เป็น (2.40±0.55) และคะแนนความรุนแรงของอาการเยื่อบุช่องปาก อักเสบ(1.00±0) น้อยกว่าระยะควบคุม(90.77%, 5.80±1.09, 1.29±0.47 ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) รวมทั้งเริ่มเกิดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบช้ากว่าในระยะควบคุม (8.37±2.10 และ 3.12±0.49) อย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) ผู้ป่วยที่ใช้กลีเซอรีนพญายอส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการใช้มาก กลีเซอรีนพญายอเป็นสมุนไพรไทยที่มีราคาไม่แพง และไม่พบผลข้างเคียงใดๆ
               นอกจากนี้พบว่าเจลใบบัวบกมีฤทธิ์ช่วยในการยึดติดของเยื่อบุเมือกในช่องปากโดยเมื่อทดลองนำเจลบักบกมาเปรียบเทียบกับยาหลอกในกลุ่มอาสาสมัคร 100 คน โดยให้อาสาสมัครทายา 3 ครั้ง คือ หลังอาหารเช้า เย็น ก่อนนอน แล้ววัดขนาดของแผลเป็นมิลลิเมตร ในความแรง 0.5, 1 และ 2% ซึ่งผลการทดลองพบว่าเจลบัวบกทำให้ขนาดของแผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยิ่งมีสารสกัดของใบบัวบกมากขึ้น ก็จะทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น ทำให้อาการปวดแผลหายเร็วขึ้น
อ้างอิง
               Sanmanowong, P. (2006). The efficacy of glycerine payayor in prevention and relief of oral mucositis among patients with cancer receiving chemotherapy. Unpublished manuscript, Mahidol University, Bangkok, Thailand. ระดับของงานวิจัย ระดับ III
               ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ สุชาดา ประเสริฐวิทยาการ เจลบัวบกยึดติดเยื่อบุเมือกในช่องปาก ภาควิชาเคมีเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2541