คำถาม : ผลของ มะรุม และ กระเจียบ ต่อ Serum Potassium- มีแพทย์สอบถามมาว่า มะรุม กับ กระเจี๊ยบ มีผลทำให้ระดับ Serum Potassium ต่ำลงได้หรือไม่ครับ ข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบคือกระเจียบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลต่อการขับ K ออกหรือไม่ ขอบคุณครับ
- Date : 10/9/2553 14:27:00
คำตอบ : มีรายงานการวิจัยว่ามะรุมมีมีฤทธิ์ขับปัสสาวะนั้นยังไม่มีรายงานการวิจัยทางคลินิก แต่พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์ 90% จากราก สารสกัดแอลกอฮอล์ 90% จากดอก สารสกัดน้ำจากราก และสารสกัดน้ำจากดอก ขนาด 200 มก./กก. และน้ำคั้นจากใบมะรุมขนาด 0.5 มล./กก. ให้แก่หนูแรท พบว่าการขับออกของปัสสาวะและอิออนต่างๆ เช่น โซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับชุดควบคุม (น้ำเกลือ 25 มล./กก.) และการให้ยา Frusemide (ยาขับปัสสาวะ) ขนาด 100 มก./กก. ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะรุมอาจจะมีผลต่อเพอ่มออกของโปแตสเซียมทางปัสสาวะ จึงทำให้ระดับโปแตสเซียมในเลือดลดลงได้
การทดสอบในอาสาสมัครสุขภาพดี 36 คน ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 16 ก. (แบ่งดื่มวันละ 4 ครั้ง) นาน 7 วัน (ระยะที่ 1) แล้วให้พัก 2 สัปดาห์ จากนั้นดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 24 ก. (แบ่งดื่มวันละ 4 ครั้ง) นาน 7 วัน (ระยะที่ 2) เมื่อตรวจปัสสาวะพบว่า มีการขับออกของครีอาตินีน กรดยูริค ซิเตรท ทาร์เตรท แคลเซียม โซเดียม โปแทสเซียม และฟอสเฟตลดลง ยกเว้นออกซาเลต ค่า CPR (Concentration product ratio) เพิ่มขึ้น และค่า PI (Permissible increment) ลดลง ในระยะที่ 2 กลับพบว่าค่า CPR ลดลงและ PI เพิ่มขึ้น ดังนั้นการดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 16 ก. จะมีผลลดการขับออกของสารต่างๆ ในปัสสาวะได้มากกว่าขนาดวันละ 24 ก.
จากผลการทดลองจะเห็นได้ว่าการรับประทานกระเจี๊ยบและมะรุม มีผลต่อการขับออกของสารต่างๆ ในปัสสาวะ โดยมะรุมมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มการขับออกของโปแตสเซียม ในขณะที่กระเจี๊ยบมีผลลดการขับออกของโปแตสเซียม