คำถาม : สมุนไพรฆ่าลูกน้ำยุง - อยากทราบว่าสารใดในกะเพราแดง หางไหลขาว หนอนตายอยาก น้อยหน่า ขมิ้นอ้อย สะเดา โหระพา สะระแหน่ กานพลู และไพล ที่มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ายุงได้ และพืชแต่ละชนิดจะใช้ส่วนใดของพืชที่จะพบปริมาณสารที่มีฤทธิ์ดังกล่าวมากที่สุด
และการนำพืชสดมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้วหมักด้วย ethanol ทิ้งไว้แล้วกรองเอาแต่น้ำเรียกว่าการสกัดหยาบหรือไม่ค่ะ แล้วสารเคมีที่มีในพืชจะหายไปไหมค่ะถ้าใช้วิธีนี้
ส่วนสารบางตัวที่พบในน้ามันหอมระเหยนั้น จะใช้การสกัดด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่ค่ะ
ขอบคุณมากนะค่ะ
- Date : 23/7/2553 13:40:00
คำตอบ : - กะเพราแดง Ocimum sanctum L. มีรายงานว่าส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบ มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง ซึ่งส่วนประกอบหลักคือสารในกลุ่ม monoterpenes และ sesquiterpene
- หางไหลขาว หรือหางไหล Dalbergia velutina ยังไม่มีรายงานเรื่องฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง
- หนอนตายอยาก Stemona collinsae มีรายงานว่าสารในกลุ่ม isoflavonoids เป็นสารออกฤทธิ์
- น้อยหน่า Annona squamosa มีรายงานว่าสาร annonin และ neoannonin ในส่วนเมล็ดมีฤทธิ์ฆ่าเหา แต่ไม่มีรายงานฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง
- ขมิ้นอ้อย Curcuma zedoaria มีรายงานว่าส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ฆ่าแมลง แต่ไม่มีรายงานฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง
- สะเดา Azadirachta indica มีรายงานว่าส่วนน้ำมันจากส่วนเมล็ด มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง สารสำคัญคือ azadirachtin
- โหระพา Ocimum basilicum มีรายงานว่าส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบ มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ eugenol geraniol และ linalool
- สะระแหน่ Mentha cordifolia ยังไม่มีรายงานเรื่องฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง แต่ถ้าเป็นสะระแหน่ฝรั่ง Mentha x piperita L. มีรายงานว่าน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบมีฤทธิ์ไล่ยุง ส่วนประกอบหลักคือ menthol
- กานพลู Syzygium aromaticum มีรายงานว่าส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอก มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ eugenol
- ไพล Zingiber montanum ยังไม่มีรายงานเรื่องฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง แต่มีรายงานว่าน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหง้ามีฤทธิ์ฆ่าหนอนและแมลงซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ beta-pinene และ sabinene
- การนำพืชสดมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้วหมักด้วย ethanol ทิ้งไว้แล้วกรองเอาแต่น้ำ สามารถเรียกว่าการสกัดหยาบได้ค่ะ แต่สารที่ได้ยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นสารสกัดหยาบได้ เนื่องจากต้องนำตัวทำละลายออกให้หมดแล้วชั่งน้ำหนักเพื่อหาปริมาณที่แน่นอนก่อนค่ะ
- สาเคมีที่ได้จากวิธีการสกัดดังกล่าวจะมีปริมาณเหลืออยู่เท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารค่ะ และหากเป็นการสกัดน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นสารที่ไม่มีขั้ว การสกัดด้วยวิธิดังกล่าวอาจได้ปริมาณไม่มากเท่ากับการสกัดด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วต่ำ หรือไม่มีขั้ว เช่น dichloromethane, chloroform hexane