คำถาม : แคฝอยและพญาเจ็ดชั้นช่วยรักษาตับแข็ง?
  • แคฝอยและพญาเจ็ดชั้น(ไม่แน่ใจว่าใช่ชื่อนี้หรือเปล่าและลักณะของพืชชนิดนี้เมื่อตัดลำต้นทางขวางจะเห็นวงเป็นเจ็ดชั้นอันนี้ฟังมาอีกทีนะคะ)มีคุณสมบัติอย่างไรคะ และรักษาโรคตับแข็งได้จริงหรือเปล่าคะ และสามารถหาได้ที่ไหน หรือมักจะปลูกได้ที่ใด ขอบคุณค่ะ
  • Date : 19/6/2552 15:08:00
คำตอบ : แคฝอย จัดอยู่ในวงศ์ Bingnoniaceae ซึ่งพบ 2 ชนิด ดังนี้
                แคฝอย (Dolichandrone serrulata  ) หรือแคขาว แคทราย แคนา แคฝา แคยาว เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ผลัดใบ ใบประกอบออกเป็นคู่ ใบย่อยบางใบมน รูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนใบไม่เท่ากัน ขอบหยัก ใต้ผิวมีต่อมเรียงตามเส้นกลางใบ ดอกช่อแบบติดดอกสลับ กลีบเลี้ยงเป็นรูปกรวย กลีบดอกเป็นหลอด ผลแตกได้ มีเมล็ดบาง ซึ่งมีปีก พบว่าสารสกัดไม่ระบุส่วนของพืชชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสาร chloride ในลำไส้ (ทดสอบในหลอดทดลอง) ซึ่งช่วยรักษาอาการท้องเสีย
                แคฝอย (Stercospermum fimbriatum  ) หรือแคทราย แคยอดดำ จีจา จีอา ลักษณะทางพฤกศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น ไม้ผลัดใบ เปลือกสีเทาอ่อน หยาบและเป็นสะเก็ด ใบประกอบแบบขนนก มีขนเหนียวๆ เมื่อยังอ่อนอยู่สีม่วง ก้านใบสีเขียว อมเหลือง ใบย่อย 2-4 คู่ มีใบเดี่ยวที่ปลายก้าน ใบย่อยรูปไข่แกมขอบขนานปลายใบเป็นหางยาว ขอบใบเรียบ โคนใบกลม แต่ไม่เท่ากัน ดอกออกเป็นช่อใหญ่ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปากท่อมีรอยหยักแหลม กลีบดอกสีขาวตุ่น สีชมพูอ่อนหรือสีชมพูอมม่วง เชื่อมตัดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นกลีบใหญ่ 2 กลีบ กลีบบนมี 2 หยัก กลีบล่างมี 3 หยัก ผลเป็นผักยาวคล้ายงู เมล็ดรูปลิ่ม มีปีกค่อนข้างหนา พบว่าสารสกัดจากรากและเปลือกต้นของพืชชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียค่ะ
                ไม่พบรายงานการวิจัยแคฝอยทั้ง 2 ชนิด ในการรักษาโรคตับแข็งค่ะ และไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งปลูกและซื้อขายค่ะ
                สำหรับพญาเจ็ดชั้น ทางสำนักงานไม่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพืชต้นนี้ไว้ค่ะ