คำถาม : เพชรสังฆาต
  • อยากทราบว่าการรับประทานเพชรสังฆาตเป็นเวลานานๆมีผลข้างเคียงกับร่างกายยังไงบ้างค่ะ แล้วสมุนไพรตัวอื่นๆด้วยค่ะควรจะกินนานแค่ไหนถึงจะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย
  • Date : 26/9/2551 15:22:00
คำตอบ : ยังไม่รายงานความเป็นพิษในคน มีแต่การศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองนะระเฉียบพลัน และกึ่งเรื้อรัง ได้แก่ การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน เมื่อป้อนผงบดแห้งต้นเพชรสังฆาตให้หนูถีบจักร ขนาด 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สังเกตอาการที่เวลา ½, 1 และ 3 ชั่วโมงหลังป้อน และอย่างน้อยวันละครั้งทุกวันติดต่อกัน 14 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ ทั้งในด้านการเจริญเติบโต และอวัยวะภายใน แต่ก็มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นฉบับหนึ่ง พบว่าเมื่อสัตว์ทดลองได้รับสารสกัดน้ำจากต้นเพชรสังฆาต ไม่ว่าจะโดยวิธีฉีดเข้าช่องท้อง หรือป้อนสู่กระเพาะอาหาร จะทำให้สัตว์ทดลองท้องเดิน ความรุนแรงขึ้นกับขนาดของเพชรสังฆาตที่ได้รับ แต่ไม่พบความเป็นพิษต่อผิวหนังของกระต่าย ในการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง เมื่อป้อนผงยาแห้งเพชรสังฆาตทางปากหนูขาว ขนาด 0.03, 0.3 และ 3.0 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกวัน นาน 3 เดือน ไม่พบความผิดปกติของการเจริญเติบโต ค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางเคมีคลินิก หรือจุลพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน และในการทดลองป้อนผงบดแห้งต้นเพชรสังฆาตให้หนูขาว ขนาด 0.05, 0.35 และ 2.45 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกวัน นาน 30 วัน ไม่พบอาการพิษใดๆ สมุนไพรทุกขนาดไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต การกินอาหาร และน้ำหนักอวัยวะภายใน สมุนไพรในขนาดต่ำและขนาดกลางไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเคมีคลินิกของเลือดและทางโลหิตวิทยา แต่สมุนไพรขนาดสูงมีผลต่อค่าทางเคมีคลินิกของเลือดและทางโลหิตวิทยา ได้แก่ ระดับครีอาตินินและอัลบูมินในเลือดลดลง ปริมาณเม็ดเลือดขาวลดลง แต่เมื่อหยุดให้ยานาน 14 วัน ระดับการเปลี่ยนแปลงของค่าดังกล่าวกลับสู่ระดับปกติ
               อย่างไรก็ตาม เพชรสังฆาตไม่ได้ใช้เป็นอาหาร แต่เป็นการใช้เพื่อเป็นยา อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษในคน จึงไม่ควรรับประทานนาน และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะผิดปกติ ท้องแน่น โต เป็นต้น และมีข้อควรระวังในการรับประทานเพชรสังมาตสดด้วย เนื่องจากต้นเพชรสังฆาตมีสารแคลเซียมออกซาเลทมาก อาจทำให้แพ้และเกิดการอักเสบในทางเดินอาหารได้ โบราณว่าให้ใส่ในกล้วยแล้วกลืนลงไป
               ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษในคนเช่นกัน และสมุนไพรมีทั้งสารที่ออกฤทธิ์และสารที่เป็นพิษ ดังนั้น หากไม่จำเป็นจึงไม่ควรใช้เป็นประจำและต่อเนื่องนาน