คำถาม : ขมิ้นชัน ม้ากระทืบโรง
  • 1. ขมิ้นชัน กินเเบบเปนผง เพียวๆ เลยได้ไหมครับ กินทุกวันได้ไหม
    2. ม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ล้ม พวกนี้ทานยังไงเหรอครับ เเล้วกินประจำได้ไหม
    - คนเป็นความดันทานได้ไหมครับ มีข้อห้ามอะไรหรือปล่าครับ กินเพื่อโด๊ปนะครับ คำสั่งภรรเมีย ส่งทางเมลล์ก็ได้ครับ

  • Date : 26/9/2551 15:19:00
คำตอบ : 1. ถ้าหากรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่ไม่มาก น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ควรรับประทานติดต่อกันทุกวัน เพราะยังไม่การศึกษาความเป็นพิษในระยะยาวและในคน นอกจากนี้มีข้อห้ามใช้ขมิ้นชันในผู้ป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีการอุดตันของท่อน้ำดีหรือผู้ที่แพ้ขมิ้นชัน และมีข้อควรระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตรซึ่งหากจะใช้ขมิ้นชัน ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้ต้องระวังการใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผล และความปลอดภัย
               2. ต้นม้ากระทืบโรงมีสรรพคุณตามตำรายาไทย ใช้ เถาหรือต้นดองกับสุรา เพื่อบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงความกำหนัด ช่วยขับน้ำย่อย เนื้อไม้ แก้ปวดหลัง แก้ปวดหัว แต่ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณตามตำรายาไทยที่กล่าวมาแล้วนี้ และยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษและความปลอดภัยด้วย จึงไม่สามารถแนะนำการรับประทานม้ากระทืบโรงได้ ส่วนต้นโด่ไม่รู้ล้ม มีสรรพคุณตามตำรายาไทย ได้แก่ ทั้งต้น ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด แก้กระษัย ใบใช้รักษากามโรค ทำให้เกิดความกำหนัด แก้อ่อนเพลีย เป็นต้น ส่วนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสมรรถภาพทางเพศนั้น ยังไม่มีการศึกษาในคน มีแต่ในสัตว์ทดลอง และจำนวนเรื่องที่ศึกษายังมีน้อย มีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล การศึกษาความปลอดภัยและความเป็นพิษ มีเฉพาะในสัตว์ทดลอง ยังไม่มีรายงานในคน ได้แก่ การศึกษาพิษเฉียบพลัน เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดด้วยเอทานอล 50% จากต้นโด่ไม่รู้ล้ม ขนาดสูงถึง 6 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบความผิดปกติใดๆ การศึกษาในหนูขาวเมื่อป้อนสารสกัดโด่ไม่รู้ล้ม ขนาด 0.02, 0., 1.0 และ 3.0 กรัม/กิโลกรัม นาน 14 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ ยกเว้นจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะแนะนำการรับประทานโด่ไม่รู้ล้มเช่นกัน
               ไม่มีรายงานวิจัยว่าม้ากระทืบโรงมีผลต่อความดันโลหิต ส่วนโด่ไม่รู้ล้มมี 1 รายงาน ที่พบว่าทำให้สัตว์ทดลองมีความดันโลหิตลดลง ข้อมูลจึงไม่เพียงพอที่จะระบุว่าปลอดภัยสำหรับผู้มีโรคความดันโลหิตผิดปกติ