ผลของการรับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วยต่อโรคกระดูกพรุน

ศึกษาผลของการรับประทานสารสกัด EGb1 และ EGb2 จากแป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba ) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคกระดูกพรุน โดยทำการทดลองในหนูแรทเพศเมีย จำนวน 60 ตัว แบ่งเป็น 2 ชุด (ชุดละ 30 ตัว) แต่ละชุดแบ่งเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) โดยชุดแรกสังเกตผลเป็นเวลา 20 วัน และชุดที่ 2 สังเกตผล 30 วัน กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติไม่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะโรคกระดูกพรุนหรือสารสกัดใดๆ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 – 5 เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะโรคกระดูกพรุนด้วยการฉีด dexamethasone disodium phosphate เข้ากล้ามเนื้อขนาด 7 มก. / กก. ของน้ำหนักตัว จากนั้น หนูในกลุ่มที่ 2 ป้อนสารสกัด EGb1 ขนาดวันละ 28 มก./กก. กลุ่มที่ 3 ป้อนด้วนสารสกัด EGb2 ขนาดวันละ 56 มก./กก. กลุ่มที่ 4 ป้อนยา alendronate ขนาด 0.2 มก./ตัว/วัน กลุ่มที่ 5 ไม่ป้อนยาหรือสารสกัดใดๆ เมื่อเลี้ยงครบ 20 วัน ทำการผ่าซากแยกกระดูกส่วนขากรรไกรล่าง (mandible) และกระดูกขาหน้า (tibia) เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการสลายเซลล์กระดูกด้วยเทคนิคจุลกายวิภาคศาสตร์ และวิเคราะห์ความหนาแน่นของกระดูกด้วยวิธีการ X – ray หนูแรทในชุดที่ 2 ทำการแบ่งกลุ่มและทดลองเช่นเดียวกันแต่ใช่ระยะเวลาการเลี้ยงหนู 30 วัน ผลจากการทดลองพบว่า หนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะโรคกระดูกพรุนด้วยการฉีด dexamethasone disodium phosphate มีค่า X – ray density ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกถึงการทะลุทะลวงของรังสีผ่านวัตถุ และการแสดงออกของโปรตีน Bax ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายเซลล์กระดูกเพิ่มขึ้น และลดการแสดงออกของโปรตีน Bcl-2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเซลล์กระดูกและค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone density) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม การป้อนหนูด้วยสารสกัด EGb1 และ EGb2 ทั้งในระยะ 20 และ 30 วัน และการป้อนยา alendronate 30 วัน มีผลเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน Bcl-2 ในขณะที่การป้อนสารสกัด EGb2 ทั้งในระยะ 20 และ 30 วัน EGb1 30 วัน และยา alendronate 20 วัน มีผลลดการแสดงออกของโปรตีน Bax อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะโรคกระดูกพรุนและไม่ได้รับยาหรือสารสกัดใดๆ นอกจากนี้ การป้อนหนูด้วยสารสกัด EGb1 และ EGb2 ยังมีผลลดค่า X-ray density ทั้งในระยะ 20 และ 30 วันอีกด้วย ผลจากการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วยมีผลช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกในภาวะที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้

Phytother Res. 2013; 27(4): 515-20.