ฤทธิ์ปกป้องผิวของสารสกัดจากผักกาดแดง

หนังกำพร้าหรือผิวหนังชั้นนอกสุดมีสาร ceramide ซึ่งเป็นไขมันที่มีหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำออกจากผิวหนังชั้นนอกสุด ช่วยให้ผิวไม่แห้งกร้าน และช่วยป้องกันร่างกายจากสิ่งต่างๆ รอบตัว หากผิวหนังชั้นนี้ทำหน้าที่ผิดปกติ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น ผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบ และโรคสะเก็ดเงิน การทดลองให้หนูเม้าส์พันธุ์ไร้ขน (HR-1 hairless mice) เพศผู้ อายุ 4 สัปดาห์ กินอาหารปกติ อาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากหัวผักกาดแดง (Beta vulgaris ) ซึ่งมีสาร glucosylceramide (GlcCer) ขนาด 1% หรืออาหารพิเศษ (HR-AD) เปรียบเทียบกัน โดยอาหาร 2 ชนิดหลังจะมีแร่ธาตุต่างๆ เช่น Mn Zn Fe Cu Se Ca P Na Mg อยู่ในปริมาณสูง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย (หนูแต่ละกลุ่มมีอัตราการกินอาหารโดยเฉลี่ย 0.12 ก./ก.น้ำหนักตัว/วัน) หลังจากทำการทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าหนูที่ได้รับ HR-AD มีการสูญเสียน้ำบริเวณผิวหนังส่วนหลังเพิ่มขึ้น หนูกินน้ำเพิ่มขึ้น ผิวหนังมีลักษณะแห้ง แดง และหนาขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมการข่วน (scratching behavior) เพิ่มขึ้น ส่วนหนูกลุ่มที่ได้รับ GlcCer กลับไม่พบความผิดปกติดังกล่าวและมีลักษณะใกล้เคียงกับหนูที่กินอาหารปกติ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การกินสารสกัดจากหัวผักกาดแดงของหนูเม้าส์สามารถปกป้องผิวได้

Phytother Res 2013;27:775-83